please wait loading...
Untitled Document
 
 ปีที่ 18 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม 2565 ISSN 1686-5715 อ่าน
1.  รูปแบบการจัดการธุรกรรมทางการเงินในการซื้อสินค้าตลาดน้ำตลิ่งชัน
Author : ธวัชชัย สู่เพื่อน
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้รูปแบบธุรกรรมทางการเงินของผู้มาใช้บริการซื้อสินค้าที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน รวมทั้งประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบธุรกรรมทางการเงินในการซื้อสินค้าและบริการ และการค้นหารูปแบบธุรกรรมทางการเงินในการซื้อสินค้าและบริการที่เหมาะสมภายในตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก มีกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 384 คน เลือกแบบเฉพาะเจาะจงและแบบบังเอิญ ประกอบด้วย 1) ผู้ดูแลตลาดน้ำตลิ่งชัน 2) ผู้ประกอบการร้านค้า และ 3) ผู้มาใช้บริการตลาดน้ำตลิ่งชัน ด้วยวิธีการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่ารูปแบบธุรกรรมทางการเงินในการซื้อสินค้าตลาดน้ำตลิ่งชัน ประกอบด้วย 1) เงินสด 2) โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร คือลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า 3) ใช้แอปพลิเคชัน คือทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน เช่น Mobile Banking, เป๋าตัง, True Wallet เป็นต้น และ 4) ระบบออนไลน์ คือการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การ Scan QR Code เป็นต้น นอกจากนี้การประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบธุรกรรมทางการเงินในการซื้อสินค้าและบริการภายในตลาดน้ำตลิ่งชัน พบว่าด้านการบริการ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ด้านระบบ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และรูปแบบธุรกรรมทางการเงินในการซื้อสินค้าและบริการที่เหมาะสมภายในตลาดน้ำตลิ่งชันคือ รูปแบบของเงินสด คำสำคัญ: รูปแบบธุรกรรมทางการเงิน, การซื้อสินค้า, ตลาดน้ำตลิ่งชัน
6
2.  การพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
Author : พฤกษา กิ้วสระทรัพย์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ ในการเก็บข้อมูลการทดสอบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมวิเคราะห์สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ ในการเก็บข้อมูลการทดสอบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ปีการศึกษา 2563 เลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) เป็นนักเรียนชาย 111 คน นักเรียนหญิง 121 คน รวม 232 คน พบว่าดัชนีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาของผลรวมทุกฉบับมีค่าถูกต้องเหมาะสมใช้ได้ ดัชนีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาจากการตรวจสอบความสอดคล้องของเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นครูผู้สอนวิชาพลศึกษา มีระดับความถูกต้องและเหมาะสมมากที่สุดทุกรายการ และดัชนีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาจากการตรวจสอบความสอดคล้องของเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นครูผู้สอนวิชาพลศึกษาโดยการทดลองใช้ (try out) มีระดับความถูกต้องและเหมาะสมมากที่สุดทุกรายการ ผลการวิจัยในครั้งนี้ทำให้ได้โปรแกรมวิเคราะห์สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ ในการเก็บข้อมูลการทดสอบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ในการทดสอบสมรรถภาพทางกายของนักเรียน และการให้คะแนนสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพในสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (พลศึกษา) คำสำคัญ: วิเคราะห์สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ, นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
13
3.  การพัฒนาระบบขอใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรณีศึกษารูปแบบการทำงานของบริษัทเอกชน
Author : วุฒิภัทร หนูยอด และวิชริณี สวัสดี
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ออกแบบพัฒนาระบบขอใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 2) ประเมินประสิทธิภาพระบบที่พัฒนาขึ้น และ 3) ประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานที่มีต่อระบบที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ใช้สำหรับประเมินประสิทธิภาพระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีส่วนในการทดสอบและใช้งานระบบที่พัฒนาขึ้น จำนวน 15 คน และกลุ่มที่ 2 ใช้ในการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานระบบที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทเฟยหยางพาราวู้ด จำกัด ที่มีส่วนในการใช้ระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้น จำนวน 83 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ระบบขอใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 2) แบบประเมินประสิทธิภาพของระบบ และ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการใช้งานระบบ ซึ่งการพัฒนาระบบในงานวิจัยนี้ใช้ภาษา HTML 5, PHP, AJAX และ JQUERY เชื่อมต่อข้อมูลด้วย MySQL วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า ระบบขอใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาขึ้น สามารถบริหารจัดการและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานโดยลดขั้นตอนปฏิบัติงาน เพิ่มความรวดเร็วและสะดวก ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการประเมินประสิทธิภาพของระบบจากผู้เชี่ยวชาญโดยรวมอยู่ในระดับดีมากที่สุด และผู้ใช้งานมีความพึงพอใจต่อระบบที่พัฒนาขึ้นอยู่ในระดับมาก คำสำคัญ: ระบบสารสนเทศ, ประสิทธิภาพ, ความพึงพอใจ, ระบบขอใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
32
4.  คุณภาพการบริการของสายการบินที่มีผลต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้โดยสารชาวไทยที่เดินทางในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
Author : รพีพร ตันจ้อย
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของผู้โดยสารที่มีต่อคุณภาพการให้บริการของสายการบินในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) เพื่อศึกษาความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้โดยสารที่เคยเดินทางในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 3) เพื่อศึกษาอิทธิพลของคุณภาพการบริการของสายการบินที่มีต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้โดยสารที่เคยเดินทางในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้โดยสารชาวไทยที่เดินทางกับสายการบินพาณิชย์ในเส้นทางภายในประเทศในช่วงเวลาที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 424 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (accidental sampling) สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอย พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับความพึงพอใจต่อคุณภาพการให้บริการของสายการบินในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้โดยสารที่เคยเดินทางในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่าอยู่ในระดับมาก ทั้งในด้านการบอกต่อ (word of mouth: WOM) และการซื้อซ้ำ (repurchase) นอกจากนี้ยังพบว่า คุณภาพการบริการของสายการบินมีอิทธิพลต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้โดยสารที่เคยเดินทางในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้ของสายการบินมีอิทธิพลต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้โดยสารมากที่สุด ผลที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนคุณภาพบริการของสายการบินในสถานการณ์การเกิดโรคระบาดได้ต่อไปในอนาคต คำสำคัญ: คุณภาพบริการ, ความตั้งใจเชิงพฤติกรรม, สายการบิน, ไวรัสโคโรนา 2019
23
5.  การพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติ สำหรับครูศิลปะระดับประถมศึกษา ผ่านการเรียนรู้แบบเชิงรุก
Author : อธิพัชร์ วิจิตสถิตรัตน์
Abstract
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติ สำหรับครูศิลปะระดับประถมศึกษาผ่านการเรียนรู้แบบเชิงรุก และ 2) เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติ ผ่านการเรียนรู้แบบเชิงรุก กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนทัศนศิลป์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 20 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ วิธีการเรียนรู้การพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติ สำหรับครูศิลปะระดับประถมศึกษา ผ่านการเรียนรู้แบบเชิงรุก ผลการวิจัยพบว่า ผลการประเมินตนเองทักษะการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติ ของผู้เรียนก่อนและหลังการทดลอง พบว่าหลังการทดลองคะแนนสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการประเมินทักษะการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติ สำหรับครูศิลปะระดับประถมศึกษา ผ่านการเรียนรู้แบบเชิงรุก พบว่ามีทักษะ สามารถสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติ มีค่าเฉลี่ยที่ 3.23 ซึ่งอยู่ในระดับดี เป็นไปตามสมมติฐาน และผู้เรียนมีการสร้างสรรค์ผลงานจากการนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ/ศรัทธา รูปแบบที่ใช้ในการสร้างสรรค์เป็นแบบรูปธรรม นามธรรม และกึ่งนามธรรม เทคนิคที่ผู้เรียนใช้สร้างสรรค์ผลงานคือ ใช้สีโปสเตอร์ สีชอล์คน้ำมัน สีน้ำ และการผสม เนื้อหาสาระที่ใช้สร้างสรรค์จะเกี่ยวกับความสุข ความงาม ความสงบ ความศรัทธา และความคิด คำสำคัญ: ทัศนศิลป์ 2 มิติ, ครูประถมศึกษา, การเรียนรู้เชิงรุก
44
6.  การพัฒนาศักยภาพทางความฉลาดของเยาวชนด้วยอานาปานสติในพระพุทธศาสนา
Author : ภัคทีฆวิณหุ์ ไอศูรย์ยศพสุธีร์ และสุมานพ ศิวารัตน์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการพัฒนาความฉลาดของเยาวชน 2) เพื่อศึกษาหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนา 3) เพื่อบูรณาการการพัฒนาความฉลาดของเยาวชนด้วยหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนา และ 4) เพื่อนำเสนอแนวทางและองค์ความรู้เกี่ยวกับ ?บูรณาการการพัฒนาความฉลาดของเยาวชนด้วยหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนา? เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแบบวิจัยเอกสาร โดยศึกษาเอกสารวิชาการ พระไตรปิฎก อรรถกถา และสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 รูป/คน ผลการวิจัยพบว่า 1. การพัฒนาศักยภาพทางความฉลาดของเยาวชน ประกอบด้วย การพัฒนาด้านความฉลาดทางคุณธรรม จริยธรรม (MQ) และความฉลาดในการแก้ปัญหาฝ่าฟันอุปสรรค (AQ) 2. อานาปานสติในพระพุทธศาสนา หมายถึง การทำสมาธิในพระพุทธศาสนา ใช้การกำหนดลมหายใจโดยมีสติกำกับ ใช้ในการทำให้จิตสงบ มีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ เพื่อพร้อมใช้พิจารณาปรากฏการณ์ 3. การบูรณาการการพัฒนาศักยภาพทางความฉลาดของเยาวชนด้วยหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีการให้เยาวชนทำอานาปานสติจนจิตสงบก่อนแล้วจึงสอนความฉลาดทางคุณธรรม จริยธรรม (MQ) เรื่องความซื่อสัตย์ ความมีวินัย และความมีน้ำใจ และสอนความฉลาดในการแก้ปัญหาฝ่าฟันอุปสรรค (AQ) เรื่องการรู้จักควบคุมตนเอง การมีความรับผิดชอบต่อปัญหา การประเมินสถานการณ์ และวิธีตอบสนองต่อปัญหา จากนั้นชี้คุณและโทษให้เยาวชนพิจารณา โดยให้ทำตามหลักอานาปานสติที่ถูกต้อง ทำอย่างต่อเนื่อง และผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่าง 4. แนวทางและองค์ความรู้เกี่ยวกับ ?การบูรณาการการพัฒนาความฉลาดของเยาวชนด้วยหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนา? สามารถสรุปเป็น TDRAMA MODEL คำสำคัญ: การพัฒนาศักยภาพ, ความฉลาดของเยาวชน, อานาปานสติ, พุทธศาสนา
16
7.  ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้รถสาธารณะ และการกำหนดบทลงโทษของผู้ขับขี่รถสาธารณะที่กระทำความผิดซ้ำตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
Author : ชลิตา รักนาย, สุระทิน ชัยทองคำ และประทีป ทับอัตตานนท์
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาในการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ศึกษาแนวคิดทฤษฎีการกระทำความผิดและการลงโทษตามกฎหมายจราจร ศึกษามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดซ้ำของผู้ขับขี่รถสาธารณะ และการรับผิดของผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้รถสาธารณะ วิเคราะห์ปัญหาความรับผิดทางอาญาของผู้ขับรถสาธารณะในการกระทำความผิดและการกระทำความผิดซ้ำ และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้รถสาธารณะ เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้ขับขี่รถสาธารณะและผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้รถสาธารณะ โดยกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เจ้าของกิจการ ผู้ขับรถแท็กซี่ ตำรวจ ทนายความ และประชาชนที่ใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 5 คน เลือกจากการที่บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ปัจจุบันประเทศไทยมีประชาชนใช้รถสาธารณะมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการเดินทาง และพบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดจากรถสาธารณะเพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากการที่ผู้ขับขี่รถสาธารณะกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรทางบก ดังนั้นจึงต้องศึกษาปัญหาในการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และศึกษาแนวคิดทฤษฎีการกระทำความผิดและการลงโทษ เนื่องจากบทลงโทษไม่หนักพอที่จะทำให้เกิดความหลาบจำ อันจะระงับการกระทำความผิดซ้ำได้ และศึกษามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดซ้ำ ทั้งการรับผิดทางอาญาของผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้รถสาธารณะในฐานะที่เป็นควบคุม ดูแล หรือใช้มาตรการเพื่อควบคุมผู้ขับขี่รถสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดกระทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งมิได้บัญญัติบทลงโทษไว้ จากการศึกษากฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ พบว่ามีการกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่รถสาธารณะกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนกฎหมายจราจรทางบก เช่น บทลงโทษที่ผู้ขับขี่รถสาธารณะได้รับโทษปรับที่สูงกว่าในกรณีที่มีการกระทำความผิดซ้ำเกิดขึ้น และบทลงโทษสำหรับผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้รถสาธารณะ คำสำคัญ: รถบริการสาธารณะ, ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้รถสาธารณะ
21
8.  การออกแบบโครงสร้างของการประเมินองค์ประกอบสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในบริบทประเทศไทย
Author : ช่อทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์, พรธิภา องค์คุณารักษ์ และทวีพันธ์ เลียงพิบูลย์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบโครงสร้างของการประเมินองค์ประกอบสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (evaluation framework of technology transfer: EFTT) เป็นกรอบในการประเมินองค์ประกอบสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับทุกอุตสาหกรรม โดยใช้วิธีสัมภาษณ์เชิงลึกคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาปัจจัยความสําเร็จของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับการวิเคราะห์ตัวแบบ ?Cloverleaf Model? และวิธีประเมิน TRL ของศูนย์ทดลองแห่งชาติซานเดียและสมาคมหน่วยงานวิจัยและเทคโนโลยีแห่งยุโรป จากนั้นจึงสังเคราะห์ EFTT มีโครงสร้างหลัก 2 ส่วน คือ 1) เทคโนโลยี มี 2 องค์ประกอบ คือ 1.1) การนำองค์ความรู้/เทคโนโลยีมาใช้ในงานวิจัย 1.2) ความสามารถใช้งานของผลผลิตจากงานวิจัย และ 2) องค์ประกอบทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้ประโยชน์ มี 4 องค์ประกอบ คือ 2.1) ความสอดคล้องของผลผลิตจากงานวิจัย กับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ 2.2) ระบบการตลาดในการนำผลผลิตจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 2.3) การบริหารจัดการการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2.4) การคุ้มครองสิทธิและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดย EFTT แสดงผลของความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็น 6 ขั้น (stage) 9 ระดับ (level) และประเด็นการประเมินความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี 56 ข้อ นักวิจัยและหน่วยกำกับงานวิจัยสามารถนำ EFTT ไปใช้ในการติดตามความก้าวหน้างานวิจัยต่าง ๆ ซึ่ง EFTT สามารถ แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบใดมีความล่าช้าหรือยังไม่ได้ดำเนินงาน จะช่วยให้นักวิจัยหรือหน่วยกำกับงานวิจัยปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกระบวนการทำวิจัย เพื่อให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คำสำคัญ: การประเมินเทคโนโลยี, การถ่ายทอดเทคโนโลยี, ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี, การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
6
9.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดราคาค่าประกอบวิชาชีพทางบัญชีของผู้ประกอบการ
Author : ชัญญาพัชญ์ ศักดิ์ดีธนาภรณ์ และวรัญพงศ์ บุญศิริธรรมชัย
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดราคาค่าประกอบวิชาชีพทางบัญชีของผู้ประกอบการ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ประกอบการในประเทศไทย เป็นนิติบุคคลที่กำลังดำเนินกิจการอยู่ จำนวน 400 ราย สุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็นและเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากทราบจำนวนประชากรทั้งหมด โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน t test F test (one-way ANOVA) วิเคราะห์สหสัมพันธ์ และวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 พบว่าบริษัทที่มีค่าธรรมเนียมประกอบวิชาชีพทางบัญชีโดยเฉลี่ยต่อปี และความเหมาะสมของค่าธรรมเนียมกับเนื้องานต่างกัน มีการกำหนดราคาค่าประกอบวิชาชีพทางบัญชีของผู้ประกอบการแตกต่างกัน ส่วนคุณภาพการให้บริการทางบัญชีคือ ความรวดเร็วในการตอบสนอง และความเป็นรูปธรรมของการให้บริการ สามารถอธิบายการกำหนดราคาค่าประกอบวิชาชีพทางบัญชีของผู้ประกอบการในระดับสูง และความพึงพอใจต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดมีความสัมพันธ์กับการกำหนดราคาคือ ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และกระบวนการให้บริการ สามารถอธิบายการกำหนดราคาค่าประกอบวิชาชีพทางบัญชีของผู้ประกอบการในระดับสูง คำสำคัญ: คุณภาพการบริการ, ส่วนประสมทางการตลาด, วิชาชีพด้านการทำบัญชี
3
10.  ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่พักอาศัยของข้าราชการส่วนท้องถิ่น
Author : ตรีรัตน์ มีทอง และอนันต์ เพียรวัฒนะกุลชัย
Abstract
งานวิจัยนี้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่พักอาศัยของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 และหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าพักอาศัยในที่พักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับสิทธิการได้รับเงินค่าเช่าบ้าน และกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิ มาตรฐานด้านที่พักอาศัย และการจัดให้เข้าพักอาศัย พบว่าระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 และหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าพักอาศัยในที่พักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 กำหนดให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องโอนย้ายไปต่างท้องที่กับที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้าน และได้รับเงินค่าเช่าบ้านโดย วิธีการเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้าน และต้องเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ภายในท้องที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งอยู่เท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าที่พักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้กำหนดมาตรฐานด้านการครองชีพไว้ และการจัดข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าพักอาศัยให้ความสำคัญกับข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านเป็นลำดับแรกเสมอ จากปัญหาข้างต้นก่อให้เกิดปัญหาในการครองชีพของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และไม่เป็นไปตามหลักการส่งเสริมให้ข้าราชการมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะข้าราชการที่เริ่มรับราชการครั้งแรก ผู้วิจัยขอเสนอว่า ควรยกร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่พักอาศัยของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เป็นกฎหมายกลาง (model law) หรือกฎหมายมาตรฐานขั้นต่ำในการบังคับใช้กับข้าราชการส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยกำหนดรูปแบบของกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิการและสิทธิประโยชน์การได้รับเงินค่าเช่าบ้าน การกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิ มาตรฐานด้านที่พักและการจัดให้เข้าพักอาศัย คำสำคัญ: สวัสดิการและสิทธิประโยชน์, ข้าราชการส่วนท้องถิ่น, ความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย
12
11.  กลยุทธ์ทางการตลาดที่ส่งผลต่อความตั้งใจซื้อซ้ำและความเต็มใจจ่ายของผู้บริโภคต่อร้านสะดวกซื้อ
Author : ไพรรัตน์ แก้วดี, ธันยนันท์ สมบูรณ์รัตนโชค และอนุรักษ์ เรืองรอบ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความตั้งใจซื้อซ้ำและความเต็มใจจ่ายของลูกค้าร้านสะดวกซื้อ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และเพื่อศึกษากลยุทธ์ทางการตลาดร้านสะดวกซื้อที่มีผลต่อพฤติกรรมหลังการซื้อของผู้บริโภคในด้านความตั้งใจซื้อซ้ำและความเต็มใจจ่าย กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริโภคที่เคยใช้บริการร้านสะดวกซื้อที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 398 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน t test และ F test เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตัวแปร เปรียบเทียบรายคู่ (LSD) และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (multiple regression analysis) พบว่า 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ที่แตกต่างกัน มีผลต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของลูกค้าร้านสะดวกซื้อในด้านความตั้งใจซื้อซ้ำและความเต็มใจจ่าย ไม่แตกต่างกัน 2) ปัจจัยด้านกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีผลต่อความตั้งใจซื้อซ้ำ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ด้านการส่งเสริมการขาย ด้าน การบริการของพนักงาน ด้านสถานที่ตั้ง และด้านการสื่อสารออนไลน์ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อความเต็มใจจ่าย ได้แก่ ด้านการบริการของพนักงาน ด้านการสื่อสารออนไลน์ และด้านความเหมาะสมของราคา ตามลำดับ คำสำคัญ: ร้านสะดวกซื้อ, ความตั้งใจซื้อซ้ำ, ความเต็มใจจ่าย
10
12.  ปัจจัยการบริหารที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงานของบุคลากรในสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา
Author : วันนิวัต พรหมสุวรรณ, กัญภร เอี่ยมพญา และนิวัตต์ น้อยมณี
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับปัจจัยการบริหารของสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา 2) เพื่อศึกษาระดับความสุขในการทำงานของบุคลากรในสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการบริหารกับความสุขในการทำงานของบุคลากรในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดฉะเชิงเทรา และ 4) เพื่อศึกษาปัจจัยการบริหารที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงานของบุคลากรในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรในสถานศึกษา จำนวน 194 คน สุ่มแบบหลายขั้นตอน โดยเทียบสัดส่วนระหว่างจำนวนกลุ่มตัวอย่างและแบ่งตามสถานศึกษา แล้วสุ่มอย่างง่ายโดยการ จับสลาก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่า 1. ปัจจัยการบริหารของสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยรวมและรายด้านทุกด้านอยู่ในระดับมาก 2. ความสุขในการทำงานของบุคลากรในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยรวมและรายด้านทุกด้านอยู่ในระดับมาก 3. ปัจจัยการบริหารมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในการทำงานของบุคลากรในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ปัจจัยด้านด้านลักษณะองค์กร ด้านลักษณะสภาพแวดล้อม ด้านภาวะผู้นำ ด้านความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง สามารถทำนายความสุขในการทำงานของบุคลากรในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ โดยมีค่าอำนาจพยากรณ์ร้อยละ 93.40 คำสำคัญ: ปัจจัยการบริหาร, ความสุขในการทำงาน, อาชีวศึกษาจังหวัด
8
13.  การประยุกต์ใช้แนวความคิดลีนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตในบริษัทผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
Author : สุทธิสา วัดสิงห์ และสายชล ปิ่นมณี
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขั้นตอนการผลิต และปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับบัดกรีในปัจจุบัน และเพื่อเสนอแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพ (increase efficiency) เพิ่มจำนวนการผลิต (increase productivity) ลดการรอคอยงาน โดยนำแนวคิดการผลิตแบบลีนมาใช้ในโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับบัดกรี ประยุกต์ใช้แนวคิดของลีนและความสมดุลการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพของสายการผลิตต่ำ โดยนำหลักการ ECRS มาใช้เพื่อลดความสูญเปล่าในการผลิต และใช้ก้างปลา วิเคราะห์ปัญหาในกระบวนการผลิต เพื่อกำจัดกิจกรรมที่ไม่เกิดคุณค่ากับการผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับบัดกรี หลังจากวางแผนการดำเนินการและกำหนดขั้นตอนการทำงานมาตรฐาน (standard operating procedure) ขึ้นใหม่ พบว่าประสิทธิภาพของสายการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 98.04 % รอบเวลาการผลิตจากเดิม 467 นาทีต่อล็อต ลดลงเหลือ 407 นาทีต่อล็อต คิดเป็น 81.15 % ส่งต่อปริมาณการผลิตต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 700 กิโลกรัม เป็น 1,000 กิโลกรัม และยังทำให้ต้นทุนค่าแรงจากเดิม 3.93 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงเหลือ 2.78 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนชั่วโมงโอทีที่ลดลงจาก 112 ชั่วโมงต่อคน เหลือ 30 ชั่วโมงต่อคน คำสำคัญ: แนวคิดลีน, หลักการ ECRS, การจัดสมดุลสายการผลิต, การปรับปรุงประสิทธิภาพสายการผลิต
44
14.  การวิจัยเชิงคุณภาพกับการศึกษาทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
Author : วีระยุทธ พรพจน์ธนมาศ
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ความหมายและลักษณะของการวิจัยเชิงคุณภาพ และ 2) การวิจัยเชิงคุณภาพกับการศึกษาทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ พบว่าลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงคุณภาพมี 14 ประการ นอกจากนี้ยังพบว่า แม้การวิจัยเชิงคุณภาพจะมีการศึกษามาอย่างยาวนาน แต่การศึกษาในทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ให้ความสนใจในการศึกษาอย่างมากในยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ หรือในช่วงทศวรรษ 1970 คำสำคัญ: การวิจัยเชิงคุณภาพ, การวิจัยเชิงคุณภาพทางรัฐศาสตร์, การวิจัยเชิงคุณภาพทางรัฐประศาสนศาสตร์
9
15.  ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาในการนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง
Author : นิธิศพงศ์ ภุมมา
Abstract
บทความนี้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาในการนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทหลักในการวางหลักเกณฑ์การฟ้องคดีปกครองทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาหลักกฎหมายเกี่ยวกับสถานะและหลักเกณฑ์ระยะเวลาในคดีปกครอง และอำนาจของศาลปกครองเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลา 2) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาในการฟ้องคดีปกครอง และอำนาจศาลของศาลปกครองเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาดำเนินการปกครอง และ 3) เพื่อให้ได้มาซึ่งบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง และแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมในการจำแนกประเภทการนับระยะเวลาของคดี พบว่าเรื่องการนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองนั้น ไม่มีการกำหนดให้มีกฎหมายเร่งรัดกระบวนพิจารณาของศาลในการดำเนินคดี กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาการฟ้องคดีปกครอง และอำนาจของศาล ไม่เปิดช่องให้มีการย่นหรือขยายระยะเวลาในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี และการนำระยะเวลาเรื่องผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีมาเป็นเกณฑ์ในการรับคำฟ้องในสัญญาทางปกครอง รวมถึงการขอย่นหรือขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และการนำศักดิ์ทางกฎหมายที่ต่ำกว่ามาใช้บังคับเทียบเท่ากับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาใช้บังคับ ดังนั้นกระบวนพิจารณาของศาลปกครองจะต้องกำหนดกฎหมายเฉพาะเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีปกครองเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม เพราะการที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการพิจารณาคดีปกครองจะนำหลักการอุดช่องว่างมาโดยอนุโลม นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับย่อมไม่ได้ เนื่องจากผิดหลักการและทฤษฎีกฎหมาย เพราะในการพิจารณาคดี ศาลปกครองจะใช้ระบบไต่สวน แต่ศาลยุติธรรมใช้ระบบกล่าวหา และในขณะเดียวกันการแสวงหาพยานหลักฐานหรือกระบวนการฟ้องคดีก็แตกต่างกันทั้งโดยเนื้อหาและวิธีการในการพิจารณาคดี คำสำคัญ: ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมาย, กระบวนการพิจารณา, การนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง
11
16.  รูปแบบการจัดการแนวใหม่ที่ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรในประเทศไทยในยุค New Normal
Author : สุปราณี วรรณรุณ
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการแนวใหม่ที่ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรในประเทศไทยในยุค New Normal โดยศึกษาตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการพัฒนาองค์กรในประเทศไทย จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า มีตัวแปรหลักสำคัญอยู่ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) รูปแบบการใช้ชีวิต 2) รูปแบบการทำงาน 3) รูปแบบธุรกิจ และ 4) รูปแบบการลงทุน โดยใน 4 องค์ประกอบ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ ?เทคโนโลยีดิจิทัล? ที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาองค์กร ด้วยการบูรณาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นสมรรถนะหลักขององค์กร เพื่อพัฒนาให้ธุรกิจเติบโตและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน คำสำคัญ: รูปแบบการจัดการแนวใหม่, การพัฒนาองค์กรในประเทศไทย, ยุคนิวนอร์มอล
10