please wait loading...
Untitled Document
 
 ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน 2564 ISSN 1686-5715 อ่าน
1.  การพัฒนาระบบประกันคุณภาพศึกษาภายในออนไลน์ สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี
Author : นรินทร์ พนาวาส และคณะ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในออนไลน์ สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เพื่อสนับสนุนการจดบันทึกและจัดเก็บข้อมูลหลักฐานของคณะ และหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในตามรูปแบบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 และเพื่อประเมินผลการใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในออนไลน์สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี โดยพัฒนาในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว คณะและมหาวิทยาลัยสามารถทราบความคืบหน้าในการทำงานด้านระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในครอบคลุม 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การกำกับมาตรฐาน 2)บัณฑิต 3) นักศึกษา 4) อาจารย์ 5) หลักสูตรการเรียนการสอนและการประเมินผู้เรียน 6) สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ สอดคล้องกับเกณฑ์การประกันคุณภาพระดับหลักสูตร และมีผลการประเมินอยู่ในระดับดี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผู้วิจัยใช้แบบประเมินคุณภาพเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 คน และผู้ใช้งานทั่วไป จำนวน 49 คน ผลการวิจัยพบว่า การประเมินจากผู้เชี่ยวชาญได้ค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.14 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.57 และผลการประเมินจากผู้ใช้งานระบบได้ค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.25 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.62 ซึ่งผลจากการประเมินคุณภาพของกลุ่มตัวอย่างสรุปได้ว่า ระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในออนไลน์สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี มีคุณภาพอยู่ในระดับดี มีฟังก์ชันการจัดเก็บข้อมูลถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดตามรูปแบบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 คำสำคัญ: ประกันคุณภาพศึกษาภายใน, เว็บแอปพลิเคชัน, คณะกรรมการการอุดมศึกษา, มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี
21
2.  การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทักษะการอ่านและคำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยใช้แนวคิด VARK สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
Author : ทัศไนย นิธิประทีป, สิริยุพิน ศุภ์ธนัชภัคชนา
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทักษะการอ่านและคำศัพท์โดยใช้แนวคิด VARK ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา ที่มีต่อรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทักษะการอ่านและคำศัพท์โดยในแนวคิด VARK ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (cluster random sampling) นักเรียน 270 คน สุ่มจับฉลากเลือกห้อง จำนวน 1 ห้อง มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง 40 คน จัดห้องเรียนเป็นแบบคละกันให้มีนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับสูงในห้องเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยการสอนโดยใช้แนวคิด VARK 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบทดสอบวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบที (independent samples t test) พบว่า 1) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยการสอนโดยใช้แนวคิด VARK มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษระหว่างเรียน (E1) ร้อยละ 87.88 และคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลัง เรียน (E2) ร้อยละ 80.92 แสดงให้เห็นว่าคะแนนเฉลี่ยทั้ง E1 และ E2 มีประสิทธิภาพทางการเรียนตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยการสอนโดยใช้แนวคิด VARK มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ผลการวัดความพึงพอใจต่อวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยการสอนโดยใช้แนวคิด VARK โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก คำสำคัญ: รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้, แนวคิด VARK, ทักษะภาษาอังกฤษ
21
3.  องค์กรแห่งความสุขในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านบางกะจะ จังหวัดจันทบุรี
Author : นิศารัตน์ แสงแข, นภดล แสงแข*, สิทธิชัย ศรีเจริญประมง
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดความสุขของชาวบ้านชุมชนบ้านบางกะจะในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน และเพื่อเสนอแนวทางองค์กรแห่งความสุขในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านบางกะจะ โดยการวิจัยแบบผสานวิธีในรูปแบบพร้อมกัน (convergent parallel design) ด้วยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 15 คน และวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) จากชาวบ้านชุมชนบ้านบางกะจะ จำนวน 370 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามที่ปรับปรุงจากเครื่องมือวัดความสุขด้วยตนเอง (HAPPINOMETER) แสดงถึงระดับความสุขและปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละมิติ โดยกำหนดตัวชี้วัด 9 มิติ 35 องค์ประกอบ ซึ่งมีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 0.96 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและข้อมูลเชิงคุณภาพการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง ผลวิจัยในภาพรวมพบว่า ชุมชนมีความพร้อมด้านความร่วมมือและการต้อนรับการท่องเที่ยวในชุมชน ตลอดจนพร้อมเปิดรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับการวัดดัชนีความสุขของสมาชิกในชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวโดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมาก จึงมีแนวทางการพัฒนา 2 รูปแบบ คือ 1) การส่งเสริมมิติองค์กรแห่งความสุขเพื่อการเพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางกะจะให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประกอบด้วย 4 มิติ คือ มิติด้านครอบครัวดี (happy family) มิติด้านจิตวิญญาณดี (happy soul) มิติด้านสังคมดี (happy society) และมิติด้านการงานดี (happy work-life) 2) การมุ่งความสนใจและเร่งเสริมแรงในมิติองค์กรแห่งความสุขเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 มิติ คือ มิติด้านสุขภาพดี (happy body) มิติด้านสุขภาพเงินดี (happy money) มิติด้านใฝ่รู้ดี (happy brain) มิติด้านน้ำใจดี (happy heart) และมิติด้านผ่อนคลายดี (happy relax) คำสำคัญ: องค์กรแห่งความสุข, การพัฒนาการท่องเที่ยว, ชุมชนบางกะจะ
28
4.  การวิเคราะห์กลวิธีการแปลเนื้อเพลง “วาฬเกยตื้น” จากภาษาไทยเป็นภาษาจีน
Author : นุชชฎา ฉัตรประเสริฐ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการแปลเนื้อเพลง “วาฬเกยตื้น”จากภาษาไทยเป็นภาษาจีน ข้อมูลที่ใช้ศึกษาในการวิจัยคือ บทเพลง “วาฬเกยตื้น” ผู้แต่ง กัญจน์กันต์ ปรีชาวุฒิคุณ ที่ได้แปลเผยแพร่เป็นภาษาจีนในเว็บไซต์ https://www. youtube .com จากผู้แปล 4 คน ที่ใช้นามในการแปลเนื้อเพลง ได้แก่ NongBaiTong, STนกฤต, GO และ Baiya Chen ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจงจากเนื้อเพลงที่มีการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาจีนจบตลอดทั้งบทเพลง การวิจัยใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพศึกษากลวิธีการแปลที่ผู้แปลทั้ง 4 คนเลือกใช้ นำเสนอข้อมูลด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ พบว่ากลวิธีการแปลที่ผู้แปลทั้ง 4 คน ใช้ในการแปลเนื้อเพลงเป็นภาษาจีนมี 7 กลวิธี ได้แก่ 1) แปลแบบตรงตัว 2) แปลแบบเพิ่มเติม 3) แปลโดยการละ 4) แปลโดยใช้คำหรือกลุ่มคำแทนที่ 5) แปลโดยเปลี่ยนลักษณะโครงสร้างวลีหรือประโยค 6) แปลเป็นข้อความเชิงเปรียบ 7) การแปลโดยวิธีการอื่น พบกลวิธีการแปลที่ใช้มากที่สุดคือ กลวิธีการแปลโดยเปลี่ยนลักษณะโครงสร้างวลีหรือประโยค คำสำคัญ: กลวิธีการแปล, การแปลไทย-จีน, วาฬเกยตื้น
24
5.  การพัฒนาเว็บไซต์ระบบคลังข้อสอบและวิเคราะห์ข้อสอบวิชาหลักการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม
Author : บุญธิดา ชุนงาม
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ระบบคลังข้อสอบ 2) เพื่อวิเคราะห์ความยาก-ง่ายของข้อสอบจากคลังข้อสอบ และ 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจงจากนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาหลักการออกแบบพัฒนาโปรแกรม ประจำปีการศึกษา 2562 จำนวน 17 คน ผู้วิจัยทดสอบโปรแกรมโดยใช้การทดสอบแบบ Black-Box Testing หลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เป็นผู้ทดสอบระบบ โดยประเมินประสิทธิภาพการทำงานของระบบ ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา และความพึงพอใจในการใช้งานระบบที่ได้ออกแบบไว้ แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ ความต้องการของผู้ใช้งาน หน้าที่ของระบบ การใช้งานของระบบ และความปลอดภัย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามประเมินประสิทธิภาพการทำงานของระบบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา หาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้การค่าความเชื่อมั่น KR-20 ค่าความเชื่อมั่น KR-21 และค่าดัชนีความยาก ผลการวิเคราะห์การตรวจสอบความเที่ยงตรง ตามเนื้อหาพบว่า ข้อคำถามทุกข้อทั้ง 4 ด้าน สามารถนำมาใช้ในการวิจัยได้เพราะมีผลจากการตรวจสอบความเที่ยงตรงตามเนื้อหาอยู่ระหว่าง 0.60-1.00 ข้อมูลการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของระบบและความพึงพอใจในการใช้งาน พบว่าประสิทธิภาพการทำงานของระบบและความพึงพอใจในการใช้งานอยู่ในระดับมาก คำสำคัญ: ระบบคลังข้อสอบ, เว็บไซต์, วิชาหลักการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม
55
6.  ความสามารถในการทำกำไร การจัดการกำไรที่ส่งผลต่อมูลค่ากิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Author : วัชธนพงศ์ ยอดราช, พรรณทิพย์ อย่างกลั่น
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเส้นทางความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ (path analysis) ของความสามารถในการทำกำไรที่ส่งผลต่อมูลค่ากิจการผ่านการจัดการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการเก็บข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET100) ซึ่งตัวแปรความสามารถในการทำกำไรนั้นใช้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) มูลค่ากิจการใช้การคำนวณค่า Tobin’s Q และการจัดการกำไรตามโมเดลของ Modified Jones ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถในการทำกำไรที่วัดผลจากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ส่งผลเชิงบวกต่อการจัดการกำไรและมูลค่ากิจการ การจัดการกำไรส่งผลเชิงบวกต่อมูลค่ากิจการอย่างมีนัยสำคัญ และจากการวิเคราะห์เส้นทางความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพบว่า ความสามารถในการทำกำไรที่วัดผลจากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ส่งผลเชิงบวกต่อมูลค่ากิจการผ่านการจัดการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 คำสำคัญ: ความสามารถในการทำกำไร, การจัดการกำไร, มูลค่ากิจการ
137
7.  การพัฒนาเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลการเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้งชันโรง
Author : วิชริณี สวัสดี, พิศาล ทองนพคุณ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้งชันโรงของกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงในจังหวัดจันทบุรี ดำเนินการโดยยึดหลักวงจรการพัฒนาเว็บไซต์ ออกแบบเว็บไซต์ด้วยซอฟต์แวร์ Artisteer ระบบการจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์คือ WordPress และประยุกต์ใช้เทคนิคอินโฟกราฟิกและสื่อมัลติมีเดียประเมินผลประสิทธิภาพและประเมินความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ โดยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 6 คน และผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินคุณภาพเว็บไซต์ และแบบประเมินความพึงพอใจเว็บไซต์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลวิจัยพบว่า เว็บไซต์ “ฐานข้อมูลการเลี้ยงผึ้งชันโรง” ที่พัฒนาขึ้น มีผลการประเมินคุณภาพเว็บไซต์และสื่อมัลติมีเดียโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การทำงานตามฟังก์ชัน การตรงกับความต้องการ และความง่ายในการใช้งาน อยู่ในระดับดี ส่วนผลการประเมินความพึงพอใจจากผู้ใช้งานด้านเสถียรภาพของระบบและด้านการออกแบบ อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านประโยชน์ขององค์ความรู้ต่อการนำไปใช้ อยู่ในระดับมากที่สุด การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเว็บไซต์ด้านการเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้งชันโรงที่มีการประยุกต์ใช้เทคนิคอินโฟกราฟิกและสื่อมัลติมีเดีย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งชันโรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจการเลี้ยงผึ้งชันโรงต่อไป คำสำคัญ: การพัฒนาเว็บไซต์, ผึ้งชันโรง
10
8.  การกำหนดอัตลักษณ์แบรนด์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งตามคุณค่าและอัตลักษณ์ของพื้นที่
Author : อุษารดี ภู่มาลี, ดรรชนี เอมพันธุ์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดอัตลักษณ์แบรนด์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งตามคุณค่าและอัตลักษณ์ของพื้นที่ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการประชุมกลุ่มกับผู้เกี่ยวข้องทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 24 ราย และการระดมสมอง ตลอดจนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์แบรนด์จากผู้ประกอบการท้องถิ่นจังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต ผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 124 ราย ผลการวิจัยได้กำหนดอัตลักษณ์แบรนด์คือ “เสน่ห์สิมิลัน” (enchanting Similan) จากอัตลักษณ์ดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการที่มุ่งสู่บุคลิกภาพของแบรนด์ทั้ง 4 ประการคือ ความเลอค่าของทรัพยากรที่ต้องรักษาไว้ เอกสิทธิ์ในการท่องเที่ยวสิมิลัน ความสงบ และความเบิกบานรื่นรมย์ การนำเสนออัตลักษณ์แบรนด์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเป็นทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กรที่เปรียบเสมือนการกำหนดเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องการจะมุ่งไปให้ถึง นั่นคือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ให้เกิดระบบบริหารจัดการที่ร่วมมือกันของทุกภาคส่วน คำสำคัญ: อัตลักษณ์แบรนด์, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
29
9.  การพัฒนากระบวนการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต
Author : ญาณิศา สังข์ทอง
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างกระบวนการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต 2) เพื่อประเมินคุณภาพกระบวนการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต 3) เพื่อศึกษาทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 หลังการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต และ 4) เพื่อศึกษาระดับทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 หลังได้รับการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านสะเดา จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านสะเดา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (cluster random sampling) จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามความเห็นของครูผู้สอนชั้นอนุบาลที่มีต่อการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล 3 2) กระบวนการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูเพื่อให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต 3) แบบวัดทักษะวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 และ 4) แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t test) ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ประกอบด้วย กำหนดเป้าหมาย, ออกแบบกิจกรรม, ปฏิบัติการจัดกิจกรรม, สรุปและประเมินผล 2) กระบวนการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.56 3) คะแนนทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 หลังการจัดประสบการณ์ทาง วิทยาศาสตร์ของครูให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 มีคะแนนเฉลี่ย 18.14 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 90.71 4) นักเรียนชั้นอนุบาล 3 หลังได้รับการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตอยู่ในระดับมากที่สุด คำสำคัญ: กระบวนการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์, ทักษะวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต, นักเรียนชั้นอนุบาล 3
25
10.  การพัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทย โดยใช้บริบทวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนองครักษ์ จังหวัดนครนายก
Author : จารุวี นวนสำเนียง, นพวรรณ ฉิมรอยลาภ*, ศิริรัตน์ ศรีสอาด
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทยโดยใช้บริบทวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนองครักษ์ จังหวัดนครนายก กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนองครักษ์ จังหวัดนครนายก ที่สมัครเป็นสมาชิกชุมนุมภาษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทยโดยใช้บริบทวิทยาศาสตร์ 2) แบบสอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความเหมาะสมของชุดกิจกรรม 3) แบบประเมินทักษะการสื่อสารภาษาไทย และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อชุดกิจกรรมผลการวิจัยพบว่า 1) การพัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทยโดยใช้บริบทวิทยาศาสตร์ นำเนื้อหาในบริบทวิทยาศาสตร์มาส่งเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทย ด้านการฟัง การพูด การอ่าน การ เขียน จำนวน 4 กิจกรรม 2) ผลการประเมินคุณภาพชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสาร ภาษาไทยโดยใช้บริบทวิทยาศาสตร์มีคุณภาพเหมาะสมระดับมากที่สุดทุกด้าน 3) นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีผล การประเมินทักษะการสื่อสารภาษาไทยในระดับผ่านเกณฑ์ ขึ้นไป และ 4) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทยโดยใช้บริบทวิทยาศาสตร์ระดับพึงพอใจมากที่สุดทุกด้าน คำสำคัญ: ชุดกิจกรรม, ทักษะการสื่อสารภาษาไทย, บริบทวิทยาศาสตร์
38
11.  การวิเคราะห์และหาแนวทางในการลดต้นทุนการขนส่ง
Author : จุฑามาศ ทองทวี, ไพโรจน์ เร้าธนชลกุล
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางในการลดต้นทุนการขนส่งของบริษัทกรณีศึกษา จากสถิติข้อมูลย้อนหลัง 3 เดือนของบริษัทกรณีศึกษาในเขตพื้นที่กรุงเทพฯฯ และปริมณฑล โดยแบ่งแนวทางการศึกษาออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1) วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของต้นทุนการขนส่งสินค้าเองทั้งหมด 2) วิเคราะห์ต้นทุนค่าขนส่งที่เหมาะสมของผู้รับจ้างขนส่ง 3) วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของต้นทุนการขนส่งแบบผสม ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนี้ได้คำนวณต้นทุนจากการจัดเส้นทางการขนส่งแบบมิลค์รัน (milk-run) และเปรียบเทียบผลการศึกษา พบว่าการขนส่งแบบผสมระหว่างการขนส่งเองร่วมกับการว่าจ้างผู้ขนส่ง สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 19.06 คำสำคัญ: วิเคราะห์ต้นทุน, การขนส่ง, มิลค์รัน
70
12.  แนวทางการจัดการศึกษานอกระบบเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะชีวิต สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
Author : นภันต์ธนัชย์ ใจปินตา, จุฬารัตน์ วัฒนะ*, ภัทรา วยาจุต
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการการเรียนรู้ทักษะชีวิตของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และเสนอแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะชีวิตสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารและครูในโรงเรียนโสตศึกษา และผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและด้านการศึกษานอกระบบ วิเคราะห์ข้อมูลทักษะชีวิต 4 ทักษะ คือ ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทักษะการจัดการกับอารมณ์และความเครียด ทักษะการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง และทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา โดยจัดหมวดหมู่ข้อมูลและสร้างข้อสรุป ผลการศึกษาปัญหาทักษะชีวิต พบว่าทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา นักเรียนไม่มีโอกาสตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ทักษะการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง พบว่านักเรียนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และความต้องการการเรียนรู้ทักษะชีวิต พบว่า ครูต้องการให้เน้นทักษะชีวิตด้านการตัดสินใจและแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก ให้นักเรียนเรียนรู้ทักษะ ชีวิตจากการจัดกิจกรรมที่เน้นย้ำและทำซ้ำ ๆ ในส่วนของแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะชีวิตแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้ 1) ปัจจัยในการจัดการศึกษา พบว่าครูควรออกแบบการ เรียนรู้ทักษะชีวิตสอดแทรกในวิชาเรียนปกติหรือในชั่วโมงกิจกรรม โดยมีองค์ประกอบทั้ง 4 ทักษะในกิจกรรมเดียว นักเรียนต้องเป็นผู้ที่สามารถใช้ภาษามือในการสื่อความหมายได้ ระยะเวลาในการจัดกิจกรรมไม่ควรใช้เวลานานเกินไป 2) ขั้นตอนในการจัดการศึกษา ขั้นนำ ครูควรศึกษาความต้องการของนักเรียน และควรสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ขั้นสอน ควรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ขั้นสรุป ในการประเมินผลควรต้องทำทันทีหลังจากการเรียนรู้เสร็จสิ้น คำสำคัญ: ทักษะชีวิต, การจัดการศึกษานอกระบบ, นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
46
13.  การประเมินความเครียดของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ กรณีศึกษา ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
Author : ปิยะพันธ์ เชื้อเมืองพาน, ธัญภัส เมืองปัน
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเครียดของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ และเสนอแนวทางในการจัดการความเครียดเบื้องต้นของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ กรณีศึกษาศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนเดินเรือพาณิชย์ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม สุ่มกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการอย่างง่าย (simple random sampling) จำนวน 319 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 96.89 มีอายุระหว่าง 21-30 ปี ร้อยละ 51.10 การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 99.37 และยังไม่ได้ฝึกภาคปฏิบัติทางทะเล ร้อยละ 55.49 โดยมีสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี โดยรวมทั้ง 5 ด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านการเรียนการสอน/กิจกรรมมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ส่งผลในระดับปานกลาง (X ̅ = 3.05, SD = 1.17) รองลงมา ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านส่วนบุคคล ด้านครอบครัว ตามลำดับ (X ̅ = 2.72 SD = 1.17, X ̅ = 2.64 SD = 1.14 และ X ̅ = 2.46 SD = 1.02) และด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลส่งผลต่อระดับความเครียดน้อยที่สุด (X ̅ = 2.17, SD = 1.07) จากนั้นนำระดับความเครียดในระดับมากถึงมากที่สุดมาเสนอแนวทางการ จัดการความเครียด มีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้ 1) ความคาดหวังให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 2) ความคาดหวังต่อตนเองสูง ไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 3) การมีกิจกรรมที่มากเกินไป ทำให้พักผ่อนน้อยลง 4) ด้านภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดความเครียดอยู่ในระดับมาก คำสำคัญ: ความเครียด, นักเรียนเดินเรือพาณิชย์, ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี
12
14.  การประยุกต์ใช้แอนิเมชันประกอบการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น สำหรับเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
Author : วริศ ดีพิสุทธิ, ศรัณย์ ภิบาลชนม์*, เชษฐ์ ศิริสวัสดิ์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาประยุกต์ใช้สื่อแอนิเมชันประกอบการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น สำหรับเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนฟิสิกส์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 24 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น ร่วมกับการใช้สื่อแอนิเมชัน แผนการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น แบบทดสอบหลังหน่วยการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนรู้ แบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิชาฟิสิกส์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าขนาดของผลคะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงบรรยาย พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนวิชาฟิสิกส์ของนักเรียนที่เรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น ร่วมกับการใช้สื่อแอนิเมชัน สูงกว่าการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คำสำคัญ: การประยุกต์ใช้แอนิเมชัน, การจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, เจตคติต่อการเรียนวิชาฟิสิกส์, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี
37
15.  การประเมินความพึงพอใจของลูกค้าด้านการขนส่งและกระจายสินค้า: กรณีศึกษา บริษัท Jing Dong
Author : Yanling Qin, ธัญภัส เมืองปัน
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความพึงพอใจของลูกค้า และเสนอแนวทางการพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าด้านการขนส่งและกระจายสินค้า กรณีศึกษา บริษัท Jing Dong เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) โดยใช้ความน่าจะเป็นแบบสุ่มอย่างง่าย กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของยามาเน่ ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 394 คน ซึ่งเป็นลูกค้าคนจีนที่อยู่ในประเทศไทยและเคยใช้บริการของบริษัท Jing Dong วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าด้านการขนส่งและกระจายสินค้าทั้งหมด 5 ด้าน พบว่าด้านความน่าเชื่อถือของการขนส่งและกระจายสินค้า มีความพึงพอใจระดับมาก รองลงมาคือ ด้านความรับผิดชอบของการขนส่งและกระจายสินค้า มีความพึงพอใจระดับมาก ด้านการให้บริการขนส่งและกระจายสินค้า มีความพึงพอใจระดับปานกลาง ด้านการสื่อสารและการแก้ไขปัญหาของการขนส่งและกระจายสินค้า มีความพึงพอใจระดับปานกลาง และด้านความสะดวกในการขนส่งและกระจายสินค้า มีความพึงพอใจระดับปานกลาง ในภาพรวมลูกค้ามีความพึงพอใจด้านการขนส่งและกระจายสินค้าของบริษัท Jing Dong อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งบริษัทจะนำข้อมูลผลการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าข้างต้นไปพัฒนาความพึงพอใจด้านการขนส่งและกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คำสำคัญ: การประเมิน, ความพึงพอใจ, การขนส่งและกระจายสินค้า, บริษัท Jing Dong
51
16.  THAILAND AS LGBTQ TOURISTS’ A WORLD PROMISING MAIN DESTINATION
Author : Thanadol Armartpon, Worakrit Chuenjit*, Ekkachai Sithamma
Abstract
The article attempted to point 2 objectives namely indicating the latest potentials of Thailand’s LGBTQ tourism capacity and analysing the possible opportunities of Thailand’s World LGBTQ Tourism destination to-be. Ones seek for someone who have same passion, instincts, tastes, and eagerness; therefore, it was resulted in LGBTQ tourism. In modern world, genders and tourism have been blended into a significant of travelling smoothly. We often see colourful and energetic activities in many famous events and festivals worldwide and enormous-amounted participants. The history of the fight for the rights has been long and glamorous. They generate tremendous of global tourism expenditures in every levels of the industry. Ergo, the category of tourism contains varied things to learn and appreciate. Since the turn of the new millennium society has become more open to gender diversity but homosexual or cross-sexed people still have problems with the tourism industry because some have paid little respect or been being unfriendly to their homosexual clients, some people are still disgusted to accompany, or joining activities with people who reveal their homosexual preferences. As a large number of homosexuals are increasing rapidly, the media have shown more interest. Social issues and the related law have surprisingly grown affecting Thailand’s economy and tourism. Thailand contains attributes of world’s leading tourism attraction such as places, cultures, cost of living, nightlife, and so on, but there are issues to be discussed. Keywords: LGBTQ tourists, tourism, main destination.
20
17.  “จงทำ” และ “จงอย่าทำ” ในการทบทวนวรรณกรรม
Author : วีระยุทธ พรพจน์ธนมาศ
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายสิ่งที่ “จงทำ” และ “จงอย่าทำ” ในการทบทวนวรรณกรรม จากการศึกษาพบว่า การแสวงหาความรู้และความจริงในทางวิชาการในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการวิจัย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่มีระเบียบกฎเกณฑ์หรือมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ข้อค้นพบที่ได้จึงมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ ทั้งนี้หนึ่งในขั้นตอนการวิจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดนอกเหนือจากการกำหนดปัญหาวิจัยคือ การทบทวนวรรณกรรม (นงลักษณ์ วิรัชชัย, 2552, หน้า 23) กล่าวได้ว่า งานวิจัยที่มีการทบทวนวรรณกรรมมาเป็นอย่างดีประสบความสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว (ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, 2561, หน้า 11) เพราะเป็นขั้นตอนที่ทำให้นักวิจัยสามารถผลิตงานวิจัยได้อย่างมีคุณภาพ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมประเด็น “จงทำ” 10 ประการ และ “จงอย่าทำ” 8 ประการ เพื่อเป็นข้อพึงตระหนักแก่ผู้ดำเนินการทบทวนวรรณกรรม คำสำคัญ: การทบทวนวรรณกรรม, การวิจัย, กระบวนการวิจัย
18
18.  คติชนวิทยา: ข้าวยำเมืองยะลา ชายแดนใต้
Author : สมภพ มีบุญ
Abstract
บทความด้านคติชนวิทยานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการทำข้าวยำในแง่มุมทางคติชนวิทยา พบว่าข้าวยำเมืองยะลามีพื้นฐานจากภูมิปัญญาอันสร้างสรรค์ของคนใต้ โดยเฉพาะชาวเมืองยะลาที่อนุรักษ์ต้นตำรับข้าวยำแบบโบราณไว้ และปรับตำราสร้างสรรค์สูตรให้เข้ายุคเข้าสมัยขึ้น ข้าวยำในอดีตทำเพียงเพื่อรับประทานในครอบครัว จนเกิดการต่อยอดกลายเป็นธุรกิจร้านอาหารไป ประโยชน์ของการศึกษาการทำข้าวยำเมืองยะลาช่วยให้รับรู้ว่า การทำข้าวยำสามารถครอบคลุมทุกองค์ประกอบของคติชนวิทยา ได้แก่ กลุ่มชนคือผู้ประกอบการจำหน่ายข้าวยำ ลูกค้า และกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบ เครื่องปรุงต่าง ๆ แหล่งที่ผลิตคือสถานที่เมืองยะลาและบริเวณใกล้เคียง ตัวบทคือขั้นตอน ตำรับตำรา วิธีการทำข้าวยำที่มีทั้งเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมแบบโบราณและปรับปรุงข้าวยำให้เข้ายุคสมัย บทบาทและหน้าที่ของคติชนวิทยาในสังคมอื่น ๆ คือบทบาทและหน้าที่ของผู้จำหน่ายข้าวยำที่มีอิทธิพลทางความคิดและการกระทำเป็นตัวอย่างที่สำคัญให้คนต่างกลุ่มได้ศึกษาเรียนรู้ ซื้อหา ผลิตตาม รวมไปถึงกระบวนการถ่ายทอดความรู้ความคิดในการทำข้าวยำผ่านมุขปาฐะและอมุขปาฐะ “คติชนวิทยา: ข้าวยำเมืองยะลา ชายแดนใต้” เป็นการศึกษาถึงวัฒนธรรมทางอาหารในวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวบ้านที่ช่วยสะท้อนให้เข้าใจวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่ทำข้าวยำครบทั้งระบบ เหมาะควรที่จะยกย่องและภาคภูมิใจในฐานะคนเมืองยะลา คนปักษ์ใต้ และคนไทย คำสำคัญ: คติชนวิทยา, ข้าวยำ, เมืองยะลา
35
19.  ความท้าทายของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคลในประเทศไทย
Author : อรปวีณ์ กุลพรเพ็ญ, วาสินี ทิพย์ศร
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ด้วยโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในหลายด้านอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อม ทำให้คนในยุคปัจจุบันไม่ต้องเสียเวลารอสิ่งต่าง ๆ เหมือนในอดีต เพราะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ต้องการได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดาย และสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ยังทำให้คนในยุคปัจจุบันสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตนเองได้อย่างชัดเจนและหลากหลาย รวมทั้งยังส่งผลต่อระบบการจัดการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องพัฒนาให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้แบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล (differentiated instruction: DI) นับเป็นอีกเป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้และยังได้รับการยอมรับว่าสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี ประเทศนิวซีแลนด์ได้รับการยกย่องว่ามีการศึกษาที่ดีที่สุดในลำดับต้น ๆ ของโลก ได้นำวิธีการนี้ไปใช้จนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี ประเทศไทยถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เริ่มนำการจัดการเรียนการสอนแบบนี้เข้ามาใช้ แต่ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเท่าใดนัก จึงถือเป็นความท้าทายของผู้สอนชาวไทยที่จะเริ่มวางแผนและนำการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคลนี้มาใช้ เพื่อทำให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาทักษะและความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของตนเอง รวมทั้งบรรลุผลสำเร็จทางการเรียนรู้ตามที่คาดหวังไว้ คำสำคัญ: การจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล, การเรียนรู้แบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
8