please wait loading...
Untitled Document
 
 ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2564 ISSN 1686-5715 อ่าน
1.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลสูงอายุ
Author : ดวงเดือน ศาสตรภัทร และคณะ
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีลักษณะครอบครัว ฐานะของการดูแล และปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ดูแล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา และรายได้ แตกต่างกัน และเพื่อหาอำนาจการทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุตามตัวแปรความเครียด สัมพันธภาพในครอบครัว ความภาคภูมิใจในตน หลักคำสอนทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ความเชื่ออำนาจภายใน- ภายนอกตน เจตคติต่อผู้สูงอายุ เจตคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ ความรู้ความเข้าใจในการ ดูแลผู้สูงอายุ และสุขภาพจิต พร้อมสมการทำนาย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 200 คน จาก 10 ชุมชน ที่อยู่ในเขตสาทร ได้มาจากการเจาะจงตามเกณฑ์คือ ต้องพักร่วมกับผู้สูงอายุซึ่งอาจเป็นญาติหรือจากการจ้าง และเต็มใจเป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือมี 11 ชุด คือ 1) แบบวัดความเครียดและแบบวัดสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต 2) คุณภาพชีวิต (WHO) และ 3) คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้น 8 ชุด คือ สัมพันธภาพในครอบครัว ความภาคภูมิใจในตน หลักคำสอนทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตน เจตคติต่อผู้สูงอายุ เจตคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ และความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุ มีการหาคุณภาพของเครื่องมือทุกชุดยกเว้นชุดที่ 1 และ 2 เพราะเป็นเครื่องมือที่มีมาตรฐานอยู่แล้ว เครื่องมือทุกชุดยกเว้นชุดความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ได้ค่า IOC = .67 หาค่าอำนาจจำแนกแบบสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวม เลือกข้อที่มีค่าสหสัมพันธ์ *p<.05ไปหาค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ดังนี้ สัมพันธภาพในครอบครัว = .845 ความภาคภูมิใจในตน = .896 หลักคำสอนทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ = .810 ความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตน = .813 เจตคติต่อผู้สูงอายุ = .868 และเจตคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ = .946 ส่วนแบบทดสอบชุดความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุ หาค่าอำนาจจำแนกรายข้อโดยการเปรียบเทียบสัดส่วนกลุ่มคะแนนสูงกับสัดส่วนกลุ่มคะแนนต่ำ เลือกค่าระหว่าง .33 ถึง 1.00 แล้วหาค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับด้วย Kuder-Richardson 20 (KR 20) ได้ค่า .98 พบว่า 1. ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีลักษณะครอบครัวเดี่ยว มีคุณภาพชีวิตดีกว่าผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีลักษณะครอบครัวขยาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนฐานะของการดูแล พบว่าการเป็นญาติกับการรับจ้าง มีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา และรายได้ ที่แตกต่างกัน พบว่ามีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน 2. ตัวแปรที่เข้าทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุคือ ความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตน ความเครียด สัมพันธภาพในครอบครัว หลักคำสอนทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และสุขภาพจิต สมการทำนาย (คะแนนดิบ) Y = 196.10 -.97 ความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตน -.60 ความเครียด -.65 สัมพันธภาพในครอบครัว +.42 หลักคำสอนทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ -.34 สุขภาพจิต สมการทำนาย (คะแนนมาตรฐาน) Y/ = -.35 ความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตน/ -.35 ความเครียด/ -.22 สัมพันธภาพในครอบครัว/ +.19 หลักคำสอนทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ/ -.12 สุขภาพจิต/ คำสำคัญ: คุณภาพชีวิต, ผู้ดูแลผู้สูงอายุ
22
2.  การปรับปรุงแผนผังโรงงานเพื่อลดมลภาวะทางเสียงและฝุ่นของโรงงานหล่อโลหะ
Author : พจมาน เตียวัฒนรัฐติกาล, อุษณีษ์ คำพูล, สมบุญ เจริญวิไลศิริ
Abstract
งานวิจัยนี้เป็นการปรับปรุงแผนผังโรงงานหล่อโลหะแห่งหนึ่ง เพื่อลดมลภาวะทางเสียงและฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดคำร้องเรียนจากบุคคลภายนอกและภาพลักษณ์ด้านลบต่อทางโรงงาน ในการปรับปรุงแผนผังโรงงานจะปรับปรุงเพียงบางส่วนภายใต้ข้อจำกัด และข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างคู่แผนก โดยประยุกต์ใช้หลักการวางแผนผังอย่างมีระบบ หลังจากนั้นประเมินแผนผังที่ได้โดยใช้ทฤษฎีของ ดิลีบ อาร์ ชูล เรียกว่าค่าผลรวมของความใกล้ชิดที่เกิดจากการให้ระดับความสัมพันธ์ด้วยเหตุผลทางด้านมลภาวะร่วมกับข้อมูลการไหลของวัสดุในกระบวนการผลิต จากการประเมินพบว่าแผนผังโรงงานก่อนปรับปรุงมีค่าผลรวมของความใกล้ชิดเท่ากับ 363 เมื่อปรับผังโรงงานใหม่แล้วค่าลดลงเหลือ 276 โดยลดลง 23.96% ซึ่งบ่งชี้ว่าแผนผังโรงงานหลังการปรับปรุงสามารถลดมลภาวะทางเสียงและฝุ่นที่สอดคล้องกับค่าความใกล้ชิด ส่งผลสืบเนื่องให้สามารถลดคำร้องเรียนทางด้านมลภาวะได้ นอกจากนั้นยังส่งผลทำให้ระยะทางรวมในการขนถ่ายวัสดุลดน้อยลงจากเดิมเฉลี่ย 22.41% คำสำคัญ: มลภาวะทางเสียงและฝุ่น, การวางผังโรงงานอย่างมีระบบ, การปรับปรุงแผนผัง, ค่าผลรวมความใกล้ชิด, ระยะทางการขนถ่ายวัสดุ
16
3.  การสื่อสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี
Author : วราพร ดำจับ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินงานด้านการสื่อสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 2) เพื่อศึกษารูปแบบการสื่อสารในการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 3) เพื่อศึกษาความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการดำเนินงานด้านการสื่อสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 4) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์รูปแบบการสื่อสารและโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่พึงประสงค์ของบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เป็นการวิจัยเชิงสำรวจโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี จำนวน 400 ชุด ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม 0.95 สถิติที่ใช้คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Pearson’s Correlation Coefficient พบว่าความคิดเห็นโดยรวมที่มีต่อโครงการ/กิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.00 โดยประเด็นที่ได้ค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ความเหมาะสมของการสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการ/กิจกรรม มีค่าเฉลี่ย 4.05 รูปแบบและวิธีการสื่อสารโครงการ/กิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ผู้ส่งสารคือ พนักงานฝ่าย CSR ผ่านช่องทางสื่อบุคคล เนื้อหาที่สื่อสารคือ รายละเอียดของโครงการ/กิจกรรม และผู้รับสารคือ พนักงานในบริษัท/ประชาชนในชุมชน โครงการ/กิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี พนักงานในบริษัทต้องการโครงการที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ประชาชนในชุมชนต้องการโครงการด้านการส่งเสริมการศึกษา ความสัมพันธ์ของรูปแบบการสื่อสารและโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่พึงประสงค์ของบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี พบว่ารูปแบบการสื่อสารและโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่พึงประสงค์มีความสัมพันธ์กับความคิดเห็นต่อการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทในเขตนิคม อุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01 คำสำคัญ: การสื่อสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม, การสื่อสาร, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี
9
4.  ผลของนโยบายการตีราคาสินค้าคงเหลือที่มีต่อผลการดำเนินงานและราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Author : รองเอก วรรณพฤกษ์
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของนโยบายการตีราคาสินค้าคงเหลือที่มีต่อผลการดำเนินงานและราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประชากรเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET 100) ผู้วิจัยใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลจากงบการเงินระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2558-2562 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ โดยแสดงในรูปตารางแจกแจงความถี่และค่าเฉลี่ย และสถิติเชิงอนุมานโดยการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ ผลการวิจัยพบว่า นโยบายการตีราคาสินค้าคงเหลือส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไร ผลต่างภาษีเงินได้นิติบุคคลและราคาหลักทรัพย์ ในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คำสำคัญ: นโยบายการตีราคาสินค้าคงเหลือ, ผลการดำเนินงาน, ความสามารถในการทำกำไร, ผลต่างภาษีเงินได้นิติบุคคล, ราคาหลักทรัพย์
29
5.  แนวทางการสร้างความปรองดองในชุมชนของพระสงฆ์อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
Author : ณรงค์ เจนใจ
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางในการสร้างความปรองดองในสังคมของพระสงฆ์อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ศึกษาจากเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระเลขานุการ จำนวน 15 รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แนวการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการสรุปประเด็นสำคัญและจัดหมวดหมู่ข้อมูลเพื่อสรุปและตีความ พบว่าแนวทางในการสร้างความปรองดองในสังคมของพระสงฆ์ในอำเภอเชียงแสน มี 6 แนวทาง ได้แก่ 1) กิจกรรมการอบรมธรรมะให้คนในชุมชนผ่านโครงการธรรมะสัญจร 2) เป็นกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง 3) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น 4) การปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชน 5) สร้างการมีส่วนร่วมในสังคมผ่านกิจกรรม และ 6) ตั้งกฎกติกาขึ้นในชุมชน คำสำคัญ: ปรองดอง, พระสงฆ์, อำเภอเชียงแสน, จังหวัดชียงราย
1
6.  รูปแบบความผูกพันและพฤติกรรมการจัดการความขัดแย้งในความสัมพันธ์แบบโรแมนติกของนักศึกษา
Author : นันทิดา โอฐกรรม, สาวิตรี สุวรรณโณ, สมทบ แก้วเชื้อ
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบความผูกพันของนักศึกษา และรูปแบบการจัดการความขัดแย้งในความสัมพันธ์แบบโรแมนติกของนักศึกษา โดยใช้แบบสอบถาม (questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จำนวน 415 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบผสมผสาน คือการสุ่มแบบแบ่งชั้นและการสุ่มแบบบังเอิญ และใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณแบบทางเดียว (one-way MANOVA) เพื่อทดสอบสมมติฐาน พบว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง จัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการมากกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวล ทะนงตน และหวาดกลัว และนักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง จัดการความขัดแย้งแบบประนีประนอมมากกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบทะนงตนและหวาดกลัว และยังพบว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวล จัดการความขัดแย้งแบบยอมทำตามมากกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบทะนงตน คำสำคัญ: รูปแบบความผูกพัน, การจัดการความขัดแย้ง, นักศึกษา
27
7.  การวิเคราะห์คุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของหัวหน้างานโดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองคาโน: มุมมองของพนักงานบริษัทเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร
Author : พชร ใจอารีย์, ประสพชัย พสุนนท์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของหัวหน้างาน โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองคาโนจากมุมมองของพนักงานบริษัทเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบโควต้า โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัทเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วน 5 ระดับ ตามแนวคิดแบบจำลองคาโน ทดสอบคุณภาพด้วยการหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาได้ค่า IOC = 1 และทดสอบความน่าเชื่อถือด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ทั้งฉบับได้ .93 ค่ารายด้าน ได้แก่ ด้านการมีศีลธรรมและความยุติธรรมได้ .94 ด้านการแสดงบทบาทที่ชัดเจนได้ .87 และด้านการการแบ่งปันอำนาจได้ .91 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์แบบจำลองคาโน พบว่าสามารถจัดกลุ่มคุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของหัวหน้างานได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คุณภาพแบบทิศทางเดียว ได้แก่ การให้เกียรติและเคารพสิทธิของพนักงานทุกคน และการให้คำแนะนำและชี้แจงสาเหตุในการปรับปรุงการทำงาน กลุ่มที่ 2 คุณภาพที่ต้องมี ได้แก่ การแสดงออกถึงความมีคุณธรรมและจริยธรรม และการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนที่เหลืออยู่ในกลุ่มที่ 3 คือ คุณภาพที่ไม่สร้างความรู้สึกแตกต่าง คำสำคัญ: ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม, คุณลักษณะของหัวหน้างาน, แบบจำลองคาโน
9
8.  ผลของการศึกษาปัญหาและความต้องการสื่อการเรียนการสอนของครูในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 และเขต 2
Author : พรทิพย์ อ้นเกษม, ลินดา นาคโปย, เยาวนาตร อินทร์สำเภา
Abstract
การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการสื่อการเรียนการสอนของครูในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 และเขต 2 และ2) ศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการพัฒนาสื่อการสอนของครูในโรงเรียนขนาดเล็กสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 และเขต 2 กลุ่มตัวอย่างคือ ครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 และเขต 2 จำนวน 224 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม หาคุณภาพเครื่องมือด้วยการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา (content validity) ความเหมาะสมของภาษา (wording) และความชัดเจน (clarity) สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ สถิติเชิงพรรณนา (descriptive statistics) และสถิติเชิงคุณภาพวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis) พบว่า ครูผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 79.02) มีวิทยฐานะตำแหน่งครู (ร้อยละ 35.91) ปฏิบัติการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย (ร้อยละ 73.21) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 64.73) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 และเขต 2 (ร้อยละ 50.44 และ 49.56 ตามลำดับ) ความต้องการสื่อการเรียนการสอนของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ทดสอบ O-NET ลำดับแรกคือ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ร้อยละ 30.36) ต้องการสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาของระบบสุริยะ ระบบนิเวศ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเป็นลำดับที่ 1 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 85) ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ทดสอบ O-NET คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม (ร้อยละ 46.88) ต้องการสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหา การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นลำดับที่ 1 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 46.87) ครูส่วนใหญ่มีความต้องการสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการคิดมากที่สุด (ร้อยละ 37.94) ลักษณะของสื่อการเรียนการสอนที่ครูต้องการมากที่สุดคือ สื่อเทคโนโลยี สื่อวีดิทัศน์ สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (ร้อยละ 49.11) ด้านสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหา พบว่าครูมีความเห็นตรงกันว่าปัจจัยหลักของปัญหาคือการขาดแคลนครู (ร้อยละ 33.48) แนวทางแรกที่ควรนำมาใช้ในการแก้ปัญหาคือ ให้ครูผลิตสื่อใช้เองและจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น (ร้อยละ 34.82) คำสำคัญ: สื่อการเรียนการสอน, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา
30
9.  แนวทางการส่งเสริมการตลาดจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนหลังวัดโรมัน จ.จันทบุรี ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
Author : ภาวิณี ทองแย้ม
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับของปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ การสื่อสารดิจิทัล ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และประสิทธิภาพจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรี ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุต่อประสิทธิภาพจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรี ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และ 3) เพื่อนำเสนอแนวทางทางการส่งเสริมการตลาดจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนหลังวัดโรมัน จังหวัดจันทบุรี ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ โดยแบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้มาเยือนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชนหลังวัดโรมัน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 384 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความเบ้ ค่าความโด่ง และการวิเคราะห์โมเดลสมการ โครงสร้าง ส่วนแบบสัมภาษณ์มีผู้ให้ข้อมูลหลักคือ ผู้เชี่ยวชาญและผู้มาเยือนชุมชนหลังวัดโรมัน จำนวน 5 คน ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าชุมชนหลังวัดโรมัน จังหวัดจันทบุรี มีการใช้เครื่องมือการสื่อสารดิจิทัลอยู่ในระดับมาก ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในระดับมาก และมีความเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่ในระดับมาก ประสิทธิภาพจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีอยู่ในระดับมาก ปัจจัยเชิงสาเหตุต่อประสิทธิภาพจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรี ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 พบว่าปัจจัยการใช้เครื่องมือการสื่อสารดิจิทัล ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่างมีความสัมพันธ์ทางตรงต่อประสิทธิภาพจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งทุกปัจจัยสามารถร่วมกันพยากรณ์ประสิทธิภาพจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีได้ดีและยอมรับได้ คิดเป็นร้อยละ 82.40 แนวทางทางการส่งเสริมการตลาดจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนหลังวัดโรมัน จังหวัดจันทบุรี ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบด้วย การใช้เครื่องมือการสื่อสารดิจิทัล ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพจากการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ 1) การใช้เครื่องมือการสื่อสารดิจิทัลเพื่อสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ มีการส่งเสริมการตลาดโดยการแจ้งโปรโมชัน การส่งเสริมการขายผ่านทาง Social Media 2) สร้างเอกลักษณ์โดดเด่นและมีความน่าสนใจในสถานที่หรือวัฒนธรรมชุมชน 3) อนุรักษ์เอกลักษณ์ของวิถีชีวิตชุมชนผ่านประวัติศาสตร์ของชุมชนให้เป็นเรื่องราว เป็นสินค้าชุมชน และฟื้นฟูวิถีชีวิตความเป็นย่านการค้าแบบดั้งเดิม พัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 4) กลยุทธ์แบบ Outside-in ก่อให้เกิดกระบวนการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืนและนำไปสู่การพัฒนาช่องทางการสร้างรายได้ คำสำคัญ: สื่อดิจิทัล, ชุมชนหลังวัดโรมัน, จังหวัดจันทบุรี, ไวรัสโคโรนา 2019
44
10.  ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราส่วนทางการเงินกับความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Author : วัชธนพงศ์ ยอดราช, พรรณทิพย์ อย่างกลั่น
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราส่วนทางการเงินกับความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากงบการเงิน รายงานประจำปี จำนวน 48 บริษัท ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 เป็นระยะเวลา 5 ปี รวมข้อมูลทั้งหมด 240 ข้อมูล โดยใช้สถิติการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุดค่าต่ำสุด ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมานที่ใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราส่วนทางการเงินกับการตัดสินใจลงทุน ได้แก่ การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลการวิจัยพบว่า อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน อัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและนักลงทุนควรให้ความสำคัญกับอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการคาดการณ์ถึงความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นแนวทางทางในการบริหารงานหรือว่าเป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุนเพื่อหวังความมั่งคั่งในอนาคต คำสำคัญ: อัตราส่วนทางการเงิน, ความสามารถในการทำกำไร, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
4
11.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว กรณีศึกษา จังหวัดนนทบุรี
Author : สุจิตรา ริมดุสิต, พูนทรัพย์ เศษศรี, ชิดชม กันจุฬา
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างคือ นักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มครอบครัว จังหวัดนนทบุรี จำนวน 400 ครอบครัว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม มีค่าความความเชื่อมั่นเท่ากับ .86 ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบสะดวก ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะของครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีบุตรอยู่ในช่วงวัยรุ่น เลือกท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลหยุดยาว มีระยะเวลาการท่องเที่ยวอยู่ระหว่าง 1-2 วัน ความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวปีละ 1-2 ครั้ง และเลือกเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อครั้ง มีการสืบค้นข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ Line โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวเลือกท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเลมากที่สุด จากการทดสอบสมมติฐานพบว่า ปัจจัยด้านทรัพยากรของแหล่งท่องเที่ยว ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด ปัจจัยด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ปัจจัยด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ปัจจัยด้านการนำเสนอลักษณะทางกายภาพ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยวของกลุ่มครอบครัวที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .05 และปัจจัยด้านราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ปัจจัยด้านกระบวนการ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ .05 คำสำคัญ: นักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว, ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกแหล่งท่องเที่ยว
64
12.  การศึกษาแรงจูงใจของนักกีฬาตัวแทนโรงเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสสาธิตสามัคคี ครั้งที่ 44 ประสานมิตรเกมส์
Author : อภินันท์ สืบพิมพาวงศ์
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบแรงจูงใจของนักกีฬาตัวแทนโรงเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสสาธิตสามัคคี ครั้งที่ 44 ประสานมิตรเกมส์ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักกีฬาตัวแทนโรงเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสสาธิตสามัคคี ครั้งที่ 44 ประสานมิตรเกมส์ จำนวน 224 คน แบ่งเป็นนักกีฬาชาย 122 คน นักกีฬาหญิง 102 คน ตอบแบบสอบถามกลับมา จำนวน 216 คน แบ่งเป็นนักกีฬาชาย 122 คน นักกีฬาหญิง 94 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .93 ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของแรงจูงใจภายในสูงกว่าแรงจูงใจภายนอก แสดงให้เห็นว่านักกีฬาตัวแทนโรงเรียนทั้งเพศชายและหญิงที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากแรงจูงใจภายในคือ สนใจในกีฬาเทเบิลเทนนิส นอกจากนี้เมื่อดูค่าเฉลี่ยตามช่วงชั้น พบว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีค่าเฉลี่ยแรงจูงใจที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้แตกต่างไปคือ “ฉันเข้าเร่วมการแข่งขันครั้งนี้เพื่อพบปะเพื่อนฝูง” โดยมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ซึ่งเป็นแรงจูงใจภายนอก สรุปได้ว่าการเป็นนักกีฬาตัวแทนโรงเรียนนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องมีแรงจูงใจมาเป็นแรงผลักดันอยู่เสมอเพื่อสนองความต้องการของตนเอง โดยมีทั้งแรงจูงใจภายในและภายนอกที่ช่วยให้นักกีฬาตัวแทนโรงเรียนพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น การเริ่มปลูกฝังให้เกิดแรงจูงใจภายในตนเองเป็นลำดับแรก คือการทำให้เกิดความชอบในกีฬาเทเบิลเทนนิส เล่นแล้วสนุกมีความสุข เล่นแล้วรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การสร้างแรงจูงใจตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจะส่งผลให้เด็กเกิดความสนใจและสามารถพัฒนาต่อยอดไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ คำสำคัญ: แรงจูงใจ, นักกีฬาเทเบิลเทนนิส, การแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสสาธิตสามัคคี ครั้งที่ 44 ประสานมิตรเกมส์
7
13.  แนวทางพัฒนาการบริหารกิจกรรมยุวกาชาดโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ตามแนวคิดทักษะชีวิต
Author : กิตติภัค วงศ์ไพศาลสิน และคณะ
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดแนวทางพัฒนาการบริหารกิจกรรมยุวกาชาด และ 2) กรอบแนวคิดทักษะชีวิต โดยใช้การสังเคราะห์จากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบศึกษาเอกสาร และแบบสัมภาษณ์ซึ่งผ่านการ ตรวจสอบเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ ผลค่าดัชนีความสอดคล้องของข้อคำถาม (IOC) เท่ากับ 1.00 วิเคราะห์ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์ โดยการวิเคราะห์เนื้อหาและการหาค่าความถี่จากเอกสาร ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 ฉบับ และนักวิชาการ จำนวน 5 คน พบว่า 1) กรอบแนวคิดแนวทางพัฒนาการบริหารกิจกรรมยุวกาชาด ประกอบด้วย (1.1) แผนงานกิจกรรมยุวกาชาด (1.2) การจัดกิจกรรมยุวกาชาด (1.3) การเงินยุวกาชาด (1.4) บุคลากรทางยุวกาชาด (1.5) วัสดุจัดกิจกรรมยุวกาชาด (1.6) การส่งเสริมกิจกรรมยุวกาชาด 2) กรอบแนวคิดทักษะชีวิต ประกอบด้วย (2.1) การตัดสินใจ (2.2) การแก้ปัญหา (2.3) การคิดสร้างสรรค์ (2.4) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (2.5) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (2.6) การสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (2.7) การตระหนักรู้ในตน (2.8) การเข้าใจผู้อื่น (2.9) การจัดการกับอารมณ์ (2.10) การจัดการกับความเครียด คำสำคัญ: การบริหารกิจกรรมยุวกาชาด, ทักษะชีวิต
5
14.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี
Author : จิราพร มณีนาถ, อนุรักษ์ เรืองรอบ, สายชล ปิ่นมณี
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ 2) ปัจจัยการธำรงอยู่ 3) ระดับการคงอยู่ 4) ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ที่ส่งผลต่อการคงอยู่ และ 5) ปัจจัยการธำรงอยู่ของพนักงานที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี จำนวน 400 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบบังเอิญ (accidental sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ พบว่า 1) ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ของพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เป็นเพศชายและหญิงใน อัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีสถานภาพสมรส การศึกษาระดับมัธยมศึกษา/ปวช. มีประสบการณ์ทำงานอยู่ในช่วง 1-3 ปี และมีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 15,001-20,000 บาท 2) ปัจจัยการ ธำรงอยู่ของพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี อยู่ในระดับปานกลาง 3) การคงอยู่ของพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี อยู่ในระดับปานกลาง 4) ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ของพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี มีผลต่อการคงอยู่ของพนักงานไม่แตกต่างกัน 5) ปัจจัยการธำรงอยู่ของพนักงาน ด้านความผูกพันทางจิตใจและด้านความพึงพอใจในการปฏิบัติงานส่งผลต่อการคงอยู่ของพนักงานฝ่ายผลิตรายวัน ระหว่างช่วงโควิด-19 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คำสำคัญ: การคงอยู่, พนักงานฝ่ายผลิตรายวัน, โควิด-19, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี
37
15.  ปัจจัยจูงใจที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และความภักดีของพนักงานในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เขตอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง
Author : ธนดล คุณธานี, สายชล ปิ่นมณี
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน 2) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน 3) เพื่อศึกษาความภักดีต่อองค์กร 4) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน 5) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรกับความภักดี 6) เพื่อศึกษาแรงจูงใจกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน 7) เพื่อศึกษาแรงจูงใจกับความภักดี 8) เพื่อศึกษาปัจจัยพยากรณ์ด้านแรงจูงใจที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และ 9) เพื่อศึกษาปัจจัยพยากรณ์ด้านแรงจูงใจที่ส่งผลต่อความภักดี ประชากรคือพนักงานจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีกลุ่มทุนจากยุโรปและอเมริกาเป็นผู้ลงทุนหรือถือหุ้น มีที่ตั้งโรงงานหรือฐานการผลิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง จำนวน 400 คน สุ่มตัวอย่างแบบสะดวก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถามแบบมาตราส่วน 5 ระดับ มีค่าความ เชื่อมั่นของแบบสอบถาม (Cronbach's alpha) เท่ากับ 0.80 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที (t test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one way ANOVA) การเปรียบเทียบพหุคูณแบบ LSD สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson correlation) และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (multiple regression) พบว่าพนักงานส่วนใหญ่เป็นชาย จำนวน 222 คน คิดเป็นร้อยละ 55.50 อายุ 36-45ปี จำนวน 286 คน คิดเป็นร้อยละ 71.50 การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 307 คน คิดเป็นร้อยละ 76.80 รายได้ 10,000-20,000 บาทต่อเดือน จำนวน 176 คน คิดเป็นร้อยละ76.80 ระยะเวลาทำงาน 1-5 ปี จำนวน 241 คน คิดเป็นร้อยละ 60.30 ลักษณะทางประชากรส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ลักษณะทางประชากรส่งผลต่อความภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ลักษณะทางประชากรสัมพันธ์กับประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ลักษณะทางประชากรสัมพันธ์กับความภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ปัจจัยจูงใจสัมพันธ์กับประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ปัจจัยจูงใจสัมพันธ์กับความภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) คำสำคัญ: แรงจูงใจ, ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน, ความภักดีของพนักงาน, อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด
26
16.  ผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์บน Google Classroom ในการเรียนรู้อักษรคันจิ ในชีวิตประจำวันวิชาภาษาญี่ปุ่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
Author : ศิริกร ลิมปศิริสุวรรณ, ปริญญา ทองสอน, สิริยุพิน ศุภ์ธนัชภัคชนา
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์บน Google Classroom เรื่อง อักษรคันจิในชีวิตประจำวัน วิชาภาษาญี่ปุ่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ต่อผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์เรื่อง อักษรคันจิในชีวิตประจำวัน กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 โรงเรียนสาธิต พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย กิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ด้วย Google Classroom แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติค่าที (t test) ผลการวิจัยพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์โดย Google Classroom เรื่องอักษรคันจิในชีวิตประจำวัน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังเรียนโดยใช้สื่อการเรียนรู้ออนไลน์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความพึงพอใจของนักเรียนต่อแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ โดย Google Classroom เรื่องอักษรคันจิในชีวิตประจำวัน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คำสำคัญ: กิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์, กูเกิลคลาสรูม, อักษรคันจิในชีวิตประจำวัน
22
17.  สมรรถนะของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ สำหรับสายการเดินเรือในประเทศไทย
Author : อัฐฉัตร วงษ์เพชร, ธัญภัส เมืองปัน
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาสมรรถนะของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ และเสนอแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของสายการเดินเรือในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้จัดการฝ่ายคนประจำเรือ ผู้ช่วยผู้จัดการ คนประจำเรือที่ปฏิบัติงานในเรือสินค้าระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดคนประจำเรือภายในประเทศไทย จำนวน 114 คน สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่าบริษัทสายการเดินเรือในประเทศไทยและผู้ที่ปฏิบัติงานในสายอาชีพนักเดินเรือ ให้ความสำคัญกับสมรรถนะที่ต้องการของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ สมรรถนะที่มีความต้องการมากที่สุดอันดับแรกคือ สมรรถนะด้านคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงปรารถนา คือการมีสำนึกรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์และทรัพย์สิน อีกทั้งยังต้องมีใจเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และต้องมีสภาพร่างกายแข็งแรงพร้อมต่อการทำงาน ทนต่อสภาวะในท้องทะเลได้ อันดับที่สองคือ สมรรถนะความรู้ ได้แก่ ต้องการให้นักเรียนมีความรู้ในการใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อการทำงานได้ ต้องมีความสามารถในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการเดินเรือพื้นฐานได้เพื่อมาฝึกต่อยอดจากการปฏิบัติจริง มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอันดับที่สามคือ สมรรถนะด้านทักษะ ได้แก่ ต้องการให้นักเรียนเดินเรือพาณิชย์มีความสามารถประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ แก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้หากมีอุปกรณ์ขัดข้อง และมีทักษะในการประยุกต์นำวิชาที่ศึกษามาปฏิบัติจริงเพื่อเป็นการเพิ่มความเข้าใจมิใช่ต้องมาเริ่มใหม่จากการฝึกงาน และควรมีประสบการณ์ในการฝึกภาคทะเลกับเรือฝึกของศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี เพื่อทำให้นักเรียนเดินเรือพาณิชย์เห็นภาพการใช้ชีวิตในทะเลก่อนที่จะมาฝึกงานจริงกับสายการเดินเรือ แนวทางการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ตามสมรรถนะหลักข้างต้นคือ ปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม มารยาทสังคม และการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง อีกทั้งด้านความรู้จะต้องเน้นไปที่การประยุกต์ใช้ได้จริงในการทำงานบนเรือ และแทรกในเรื่องการใช้และการแก้ปัญหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีความสามารถแข่งขันและสนองต่อบริษัทสายการเดินเรือได้ต่อไป คำสำคัญ: นักเรียนเดินเรือพาณิชย์, สถาบันผลิตนักเดินเรือ
42
18.  ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการใช้ข้อความทำให้บุคคลอื่นเสียหายทางคอมพิวเตอร์
Author : ชัชทพงษ์ เชื้อดี
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 14 (1) โดยให้มีความชัดเจนในการนำมาใช้กับการใช้ข้อความทำให้บุคคลอื่นเสียหายโดยทุจริต หลอกลวง เพื่อให้ได้มาและนำไปใช้ซึ่งข้อมูลของผู้อื่น โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด การใช้ข้อความทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย เช่น การใส่ความ ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวถึงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่น มีบทบัญญัติในการลงโทษผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หรือการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นการกระทำด้วย เอกสาร ภาพวาด ภาพยนต์ หรือตัวอักษร ให้นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มาบังคับใช้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ได้อีกด้วย ต่อมาการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในการสื่อสารทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงเนื้อหาได้โดยง่าย ทำให้เทคโนโลยีเป็นสื่อหลักที่นำมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลาย ในทางกลับกันก็สามารถทำให้เกิดความเสียหายจากการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง ทั้งในรูปแบบของข้อความ ตัวอักษร ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหว ทั้งนี้ยังรวมถึงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสื่อดังกล่าว เช่น Facebook, Line หรือ Web board ต่าง ๆ ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ หรือดูหมิ่น เหยียดหยาม หมิ่นประมาท ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ที่ปรากฏอยู่ในสื่อสังคมปัจจุบันจำนวนมาก หรือแม้กระทำการดูถูกเหยียดหยาม ดูหมิ่น หมิ่นประมาทผู้อื่น เกิดการฟ้องร้องให้ลงโทษและเรียกค่าเสียหายหลายกรณี รวมถึงการฉ้อโกงที่เป็นการนำข้อความหลอกลวงผู้อื่นโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดด้วย ให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้บทกฎหมายในปัจจุบัน และเป็นการทับซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ในเรื่องของการฉ้อโกงอีกด้วย ข้อเสนอแนะบทความนี้คือ ให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) โดยให้มีการปรับแก้ไข พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) บัญญัติว่า “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของผู้อื่น และนำไปใช้เพื่อให้ได้ทรัพย์สินของผู้นั้น” คำสำคัญ: ดูหมิ่น, หมิ่นประมาท, ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
44
19.  สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัล
Author : ธันยนันท์ สมบูรณ์รัตนโชค, วิสันต์ ลมไธสง
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการสมัยใหม่ในยุคธุรกิจบนแพลทฟอร์มดิจิทัลออนไลน์ในปัจจุบัน โดยศึกษาปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการสร้างธุรกิจสมัยใหม่ผ่านผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการด้านผู้ประกอบการสมัยใหม่ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันจะทบทวนแนวคิดและบทความวิชาการด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการสมัยใหม่จากนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ รวมถึงนำเสนอกรณีศึกษาที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นแล้วในโลกปัจจุบันด้วย เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของสภาพแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัลที่มีผลต่อการกำเนิดใหม่ของธุรกิจในยุคที่โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสูงนี้ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการสร้างสังคมความเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล ประกอบด้วย 1) การสนับสนุนทางการเงิน 2) นโยบายของภาครัฐ 3) มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ 4) ด้านการศึกษาองค์ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ 5) การถ่ายโอนความรู้เพื่อการวิจัยและพัฒนา 6) การบริการวิชาชีพสำหรับธุรกิจ 7) การเปิดกว้างของตลาด 8) ระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และ 9) ความเท่าเทียมทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนกุญแจสู่การสร้างสภาพแวดล้อมผู้ประกอบการดิจิทัลที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 1) ความเป็นพลเมืองของผู้ใช้ดิจิทัล 2) แพลตฟอร์มดิจิทัลหลายด้าน 3) การกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ 4) การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้การจัดการสภาพแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สามารถทำได้ ดังนี้ 1) เลือกประเภทของ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 2) กำหนด บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน 3) มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมกัน 4) แยกสภาพแวดล้อมใหม่จากธุรกิจดั้งเดิม 5) สร้างความไว้วางใจในหมู่คู่ค้า 6) พัฒนากลยุทธ์สร้างรายได้ 7) สร้างพันธมิตรที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับแรก 8) สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนระหว่างพันธมิตร 9) รักษาความคล่องตัวลื่นไหล และ10) กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อการติดตาม คำสำคัญ: ปัจจัยสภาพแวดล้อม, ผู้ประกอบการดิจิทัล, เทคโนโลยีสารสนเทศ, แพลทฟอร์ม
7