please wait loading...
Untitled Document
 
 ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม 2564 ISSN 1686-5715 อ่าน
1.  การพัฒนาแบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
Author : กิตติศักดิ์ แป้นงาม
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างตัวบ่งชี้และแบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเพื่อตรวจสอบคุณภาพแบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 45 คน ได้จากการสุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยควอไทล์ 2) แบบสอบถามความเห็นโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อแบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) แบบประเมินความเหมาะสมของแบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) แบบประเมินค่าดัชนีความสอดคล้องแบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผลการวิจัยพบว่า 1) แบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วย ตัวบ่งชี้ที่ 1 บอกหรืออธิบายแยกแยะข้อเท็จจริง การโน้มน้าว การนำเสนอข่าว ข้อมูลเกินจริง ตัวบ่งชี้ที่ 2 บอกข้อดี ข้อเสียที่มีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ตัวบ่งชี้ที่ 3 บอกความแตกต่างของภาพตัดต่อและภาพจริง และตัวบ่งชี้ที่ 4 แยกแยะข้อมูล ข่าวสาร บทความในสื่อออนไลน์ ได้ว่าส่วนไหนเป็นจริงหรือแต่งขึ้น 2) การตรวจสอบคุณภาพของแบบวัดการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคุณภาพระดับมากทุกด้าน ค่าเฉลี่ย 4.16 ประกอบด้วย ด้านความเหมาะสม ด้านความถูกต้อง และด้านความเป็นไปได้ มีค่าเฉลี่ย 4.29, 4.11 และ 3.94 มีค่ามัธยฐานระหว่าง 4.00-5.00 ค่าพิสัยควอไทล์ ระหว่าง 0.00-1.00 และ 3) การรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ด้านการวิเคราะห์สำหรับครูประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 มีการรับรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.55
17
2.  ความสามารถในการสร้างสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก ของนักศึกษาครูสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับเทคนิคการจัดแผนผังมโนทัศน์
Author : ภูษณิศา สุวรรณศิลป์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถในการสร้างสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก ของนักศึกษาครูสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการสร้างสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก และศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการสร้างสื่อการสอนด้วยภาพ อินโฟกราฟิก โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ภาคการเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบประเมินคุณภาพของสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการสร้างสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า 1) คุณภาพของสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก โดยผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในระดับปานกลาง 2) ประสิทธิภาพของสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 85/94 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 80/80 3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาหลังการสร้างสื่อการสอนด้วยภาพอินโฟกราฟิก พบว่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 4) ความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการสร้างสื่ออินโฟกราฟิกอยู่ในระดับมาก
3
3.  การศึกษาระดับสมรรถภาพทางกายของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในเขตจังหวัดจันทบุรี
Author : ติยาพร ธรรมสนิท และคณะ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสมรรถภาพทางกายของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในเขตจังหวัดจันทบุรี ระดับชั้นประถมศึกษาที่ 1-6 จำนวน 6 แห่ง จำนวน 279 คน แบ่งเป็นนักเรียนชาย จำนวน 163 คน และนักเรียนหญิง จำนวน 116 คน โดยใช้แบบทดสอบและเกณฑ์มาตรฐานสมรรถภาพทางกายสำหรับอายุระหว่าง 7-18 ปี ของกรมพลศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่านักเรียนที่เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพทางกาย เป็นเพศชายน้อยกว่าเพศหญิง จำแนกตามกลุ่มอายุได้ 6 กลุ่ม โดยมีช่วงอายุ 9 ปี มากที่สุด ผลการทดสอบสมรรถภาพทางกายของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำแนกตามรายการทดสอบ จำนวน 6 รายการ เมื่อพิจารณาตามรายการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐาน มีผลดังนี้ 1) ลุกนั่ง 60 วินาที อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 21 ครั้ง) 2) วัดไขมันใต้ผิวหนัง อยู่ในระดับค่อนข้างอ้วน (ค่าเฉลี่ย 19.50 มิลลิเมตร) 3) ยืนกระโดดไกล อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 83 เซนติเมตร) 4) วัดความอ่อนตัว อยู่ในระดับดีมาก (ค่าเฉลี่ย 12 เซนติเมตร) 5) วิ่งอ้อมหลัก อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 24.31 วินาที) และ 6) วิ่งระยะไกล อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 11.49 นาที) ผลการทดสอบสมรรถภาพทางกายของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยรวมจึงอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.50)
5
4.  การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์
Author : สง่า อนุศิลป์
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ เพื่อศึกษาความต้องการและความพึงพอใจในการใช้งานผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ และเพื่อพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์จากภูมิปัญญาไทยทางด้านศิลปกรรม โดยเป็นการศึกษาวิจัยแบบผสมผสานระหว่างวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพกับการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มเป้าหมายที่ให้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไทย จำนวน 10 คน กลุ่มเป้าหมายที่ให้ข้อมูลเชิงปริมาณเป็นผู้ใช้งานเครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรม จำนวน 45 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสัมภาษณ์และแบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) ร่างรูปทรงและโครงสร้าง 2) ออกแบบลวดลาย 3) หลอมเนื้อโลหะให้ละลายในเบ้าหลอม 4) รีดโลหะโดยใช้ความร้อนและทำความสะอาด 5) ขึ้นรูปขนาดตามรูปทรง 6) จัดรูปทรง สลักเส้นลวดลาย และดุนลาย 7) เก็บลายและเรลายให้ได้มิติตามต้องการ และ 8) ประกอบชิ้นงานเครื่องเงินและเครื่องทองให้เหมาะสม ความต้องการใช้งานผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก การพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยทางด้านศิลปกรรมทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของเครื่องเงินและเครื่องทองที่สร้างขึ้น สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อเครื่องเงินและเครื่องทองเชิงวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากเช่นกัน
21
5.  การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สลักดุนโลหะเชิงภูมิปัญญาไทย กรณีศึกษาโพธิ์ดุน
Author : สำเนียง หนูคง
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคนิคการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สลักดุนโลหะเชิงภูมิปัญญาไทย กรณีศึกษาโพธิ์ดุน เพื่ออนุรักษ์งานหัตถศิลป์ และความต้องการ ความพึงพอใจในการใช้งานผลิตภัณฑ์สลักดุนโลหะเชิงภูมิปัญญาไทย กรณีศึกษาโพธิ์ดุน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี กลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถศิลป์และภูมิปัญญาไทย และการสนทนากลุ่มเชิงปฏิบัติการ จำนวน 15 คน กลุ่มเป้าหมายเชิงปริมาณ จำนวน 38 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์และแบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่า 1. เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์สลักดุนโลหะเชิงภูมิปัญญาไทย มีขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ 1) ร่างรูปทรงและโครงสร้างแบบใบโพธิ์ 2) ออกแบบลวดลายไทยบนใบโพธิ์ 3) หลอมเนื้อโลหะให้ละลายในเบ้าหลอม 4) รีดโลหะโดยใช้ความร้อนและทำความสะอาด 5) ขึ้นรูปขนาดตามรูปทรงของใบโพธิ์ 6) จัดรูปทรง สลักเส้นลวดลาย และดุนลาย 7) เก็บลายและเรลายให้ได้มิติตามต้องการ และ 8) ประกอบชิ้นงานโพธิ์ดุนให้เหมาะสม โดยจะขึ้นอยู่กับทักษะของช่างหัตถศิลป์เป็นสำคัญ 2. ความต้องการใช้งานผลิตภัณฑ์สลักดุนโลหะเชิงภูมิปัญญาไทยจากกรณีศึกษาโพธิ์ดุน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก 3. การวิจัยนี้ทำให้ได้โพธิ์ดุนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของงานที่สร้างขึ้น ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อผลิตภัณฑ์สลักดุนโลหะเชิงภูมิปัญญาไทยจากกรณีศึกษาโพธิ์ดุน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากเช่นกัน
3
6.  การรับรู้ของผู้รับบริการต่อทักษะทางคลินิกด้านการรักษาโรคเบื้องต้นของนักศึกษาพยาบาล
Author : ทรงฤทธิ์ ทองมีขวัญ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการรับรู้ของผู้รับบริการต่อทักษะทางคลินิกด้านการรักษาโรคเบื้องต้นของนักศึกษาพยาบาล กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้รับบริการแผนกผู้รับบริการนอก โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสงขลาและพัทลุง จำนวน 252 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ได้ค่า CVI เท่ากับ .80 ตรวจสอบความเที่ยงโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ .86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ต่อทักษะทางคลินิกในการรักษาโรคเบื้องต้นของนักศึกษาพยาบาลโดยรวมอยู่ในระดับดี โดยด้านที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยมากที่สุดคือ ด้านการสื่อสารทั่วไป รองลงมาคือ ด้านการซักประวัติการเจ็บป่วย ส่วนด้านที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ/ตรวจพิเศษ ดังนั้น ควรส่งเสริมให้นักศึกษาพยาบาลมีทักษะทางคลินิกด้านการรักษาโรคเบื้องต้นให้สูงขึ้น โดยเฉพาะทักษะทางคลินิกด้านการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ/ตรวจพิเศษ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของผู้รับบริการต่อการรักษาโรคเบื้องต้นจากนักศึกษา
20
7.  ผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพมิติจิตวิญญาณต่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณในนักศึกษาพยาบาล
Author : วรินทร์ลดา จันทวีเมือง
Abstract
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพมิติจิตวิญญาณต่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณของนักศึกษาพยาบาล กลุ่มตัวอย่างคือ นักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา จำนวน 80 คน ใช้วิธีสุ่มแบบหลายขั้นตอน ได้กลุ่มทดลอง จำนวน 40 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 40 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพมิติจิตวิญญาณเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ส่วน ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพมิติจิตวิญญาณ และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและแบบสอบถามสุขภาวะทางจิตวิญญาณ แบบสอบถามได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .86 วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลโดยใช้สถิติเชิงบรรยายและสถิติไคสแควร์ วิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยสุขภาวะทางจิตวิญญาณภายในกลุ่มทดลองก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมโดยใช้สถิติทีคู่ วิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยสุขภาวะทางจิตวิญญาณระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติทีอิสระ พบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาวะทางจิตวิญญาณหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาวะทางจิตวิญญาณหลังทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ชี้ให้เห็นว่าโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพมิติจิตวิญญาณส่งผลให้นักศึกษาพยาบาลมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณสูงขึ้น ดังนั้น สถาบันการศึกษาพยาบาลควรนำโปรแกรมนี้ไปใช้พัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และบูรณาการกับการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณของนักศึกษาพยาบาล
6
8.  การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ EACDE MODEL ในสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
Author : ธัญญารัตน์ แก้วตะพาน
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ ในสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ EACDE Model ในสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของผู้เรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ EACDE Model ที่พัฒนาขึ้น 4) เปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ EACDE Model ที่พัฒนาขึ้น และ 5) ศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ EACDE Model ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/12 โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และแบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ EACDE Model ในสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 สร้างความสนใจ (encouragement) ขั้นที่ 2 ลงมือปฏิบัติ (action) ขั้นที่ 3 สรุปองค์ความรู้ (conceptualization) ขั้นที่ 4 ส่งเสริม พัฒนา คุณลักษณะ (development of characteristics) และขั้นที่ 5 ประเมินผล (evaluation) รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 82.67/81.58 ผู้เรียน มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนก่อนเรียนและหลังเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ EACDE Model ในสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมากที่สุด
22
9.  พฤติกรรมการท่องเที่ยววิถีใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในแหล่งท่องเที่ยวชายหาด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
Author : รัศมีพร พยุงพงษ์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยว พฤติกรรมท่องเที่ยววิถีใหม่ และเปรียบเทียบลักษณะประชากรศาสตร์กับพฤติกรรมท่องเที่ยววิถีใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในแหล่งท่องเที่ยวชายหาด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างคือ นักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 400 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบบังเอิญ เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .91 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน t-test (independent sample) และ One-way ANOVA ผลการวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวชายหาด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 372 คน คิดเป็นร้อยละ 93.00 จักรยานยนต์ จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 5.00 และรถรับจ้างสาธารณะ จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 2.00 สมาชิกที่ร่วมเดินทาง 4-5 คน จำนวน 167 คน คิดเป็นร้อยละ 41.80 สมาชิกที่ร่วมเดินทาง 6 คน หรือ 6 คนขึ้นไป จำนวน 120 คน คิดเป็นร้อยละ 30.00 สมาชิกที่ร่วมเดินทาง 2-3 คน จำนวน 110 คน คิดเป็นร้อยละ 27.50 และมาคนเดียว จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 0.80 ลักษณะความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลที่ร่วมเดินทาง คือ ครอบครัว จำนวน 278 คน คิดเป็นร้อยละ 69.50 เพื่อน จำนวน 89 คน คิดเป็นร้อยละ 22.30 คนรัก/แฟน จำนวน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 4.80 และเพื่อนร่วมงาน จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 3.50 รูปแบบการพักผ่อนเพื่อท่องเที่ยวชายหาดไปเช้า-กลับเย็น จำนวน 325 คน คิดเป็นร้อยละ 81.30 พักค้างคืน จำนวน 75 คน คิดเป็นร้อยละ 18.80 กิจกรรมที่ทำระหว่างท่องเที่ยวชายหาดคือ กิจกรรมชายหาด ได้แก่ นั่งเล่น จำนวน 349 คน คิดเป็นร้อยละ 22.40 รองลงมาคือ รับประทานอาหาร จำนวน 295 คน คิดเป็นร้อยละ 18.90 เดินเล่น จำนวน 289 คน คิดเป็นร้อยละ 18.50 ถ่ายภาพ จำนวน 265 คน คิดเป็นร้อยละ 17.00 นอนเล่น จำนวน 187 คน คิดเป็นร้อยละ 12.00 ก่อกองทราย จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 2.00 และกิจกรรมทางน้ำ ได้แก่ ว่ายน้ำ จำนวน 101 คน คิดเป็นร้อยละ 6.50 ดำน้ำกับพายเรือ จำนวนเท่ากัน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 1.00 เรือกล้วย (banana boat) จำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 0.80 การปฏิบัติตนตามการท่องเที่ยววิถีใหม่ในภาพรวมมีการปฏิบัติตนอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า มีการปฏิบัติตนตามการท่องเที่ยววิถีใหม่อยู่ในระดับมาก ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยวชายหาดและด้านนักท่องเที่ยว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีอายุ สถานภาพ อาชีพ และการศึกษาต่างกัน มีพฤติกรรมท่องเที่ยววิถีใหม่แหล่งท่องเที่ยวชายหาด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
16
10.  สภาพ ปัญหา และแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับผู้เรียนสมาธิสั้น ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดนนทบุรี
Author : ศิริชัย ศุภมิตร
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับผู้เรียนสมาธิสั้นในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดนนทบุรี และเสนอแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับผู้เรียนสมาธิสั้นในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดนนทบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ครู กศน. สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดนนทบุรี จำนวน 86 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามสภาพและปัญหาในการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับผู้เรียนสมาธิสั้น และแนวทางการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า สภาพการจัดการศึกษาโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ปัญหาการจัดการศึกษาพบว่ามีปัญหาในการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้และวิธีการสอนที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนสมาธิสั้น ส่วนแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับผู้เรียนที่มีสมาธิสั้นในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดนนทบุรี มีองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการจัดสิ่งแวดล้อม 2) ด้านการจัดการเรียนการสอน 3) ด้านการมอบหมายงานและการให้การบ้าน 4) ด้านเทคนิคการเรียนและการจัดการเวลา และ 5) ด้านการช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมการเรียน การพัฒนาทักษะทางสังคมและการปรับพฤติกรรม
37
11.  การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างชาวสวนยางและผู้รับซื้อไม้ยางพาราที่มีผลต่อความพึงพอใจและความสำเร็จทางธุรกิจในจังหวัดระยอง
Author : จิรภิญญา นิละ
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะข้อมูลพื้นฐานของผู้ขายไม้ยางพาราจังหวัดระยอง ศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์ของซัพพลายเออร์ไม้ยางพาราจังหวัดระยอง ศึกษาระดับความพึงพอใจของผู้ขายไม้ยางพาราในจังหวัดระยอง ศึกษาระดับความสำเร็จทางธุรกิจ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยข้อมูลพื้นฐานต่อความพึงพอใจของผู้ขายไม้ยางพาราจังหวัดระยอง ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะข้อมูลพื้นฐานต่อความสำเร็จทางธุรกิจ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความสัมพันธ์ของซัพพลายเออร์ที่มีความสัมพันธ์ต่อความพึงพอใจของผู้ขาย และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความสัมพันธ์ของซัพพลายเออร์ที่มีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จทางธุรกิจ กลุ่มตัวอย่างคือ เกษตรกรผู้ปลูกยางที่มาขายไม้ยางพาราให้กับองค์กรรับซื้อไม้ยางพาราในจังหวัดระยอง จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามแบบมาตราส่วน 5 ระดับ สถิติที่ใช้วิจัย ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว การทดสอบรายคู่ด้วยวิธี LSD และการวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ พบว่าความพึงพอใจของผู้ขายไม้ยางพาราในจังหวัดระยอง โดยรวมอยู่ในระดับมาก ความพึงพอใจของผู้ขายไม้ยางพาราและความสำเร็จทางธุรกิจ โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีปัจจัยส่วนบุคคลด้านเพศ อายุ จำนวนสมาชิกในครอบครัว จำนวนปีที่ทำสวนยางพารา รายได้จากการทำสวนยางพารา และขนาดพื้นที่ปลูกยางพาราแตกต่างกัน มีระดับ ความพึงพอใจในการขายไม้ยางพาราและความสำเร็จทางธุรกิจในจังหวัดระยองไม่แตกต่างกัน โดยปัจจัยการจัดการความสัมพันธ์ของซัพพลายเออร์ด้านความร่วมมือ ด้านการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านการตอบสนองความต้องการ และด้านความสัมพันธ์ระยะยาว มีระดับความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการขายไม้ยางพาราและความสำเร็จทางธุรกิจในจังหวัดระยอง และปัจจัยการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างชาวสวนยางพาราที่มีผลเชิงบวกต่อความพึงพอใจ ได้แก่ ด้านความร่วมมือ ด้านการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านการตอบสนองความต้องการ และปัจจัยการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างชาวสวนยางพาราที่มีผลเชิงบวกต่อความความสำเร็จทางธุรกิจ ได้แก่ ด้านความตั้งใจ และด้านการเงิน
14
12.  ปัจจัยด้านคุณภาพการบริการที่มีผลต่อความไว้วางใจและความตั้งใจเช่าเครื่องจักรรถกระเช้าของลูกค้าในจังหวัดระยอง
Author : ลักขณา กรดแก้ว
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพการให้บริการของบริษัทให้เช่าเครื่องจักรรถกระเช้าในจังหวัดระยอง เปรียบเทียบความไว้วางใจและการตัดสินใจเช่าเครื่องจักรรถกระเช้าสำหรับงานรับเหมาก่อสร้างจำแนกตามปัจจัยองค์กร และศึกษาระดับอิทธิพลของคุณภาพการบริการที่มีต่อความไว้วางใจและความตั้งใจเช่าเครื่องจักรรถกระเช้าในจังหวัดระยอง กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มลูกค้าของบริษัทให้เช่าเครื่องจักรรถกระเช้าแห่งหนึ่ง จำนวน 300 ราย ผลการวิจัยพบว่าคุณภาพการให้บริการของบริษัทให้เช่าเครื่องจักรรถกระเช้าในจังหวัดระยอง โดยรวมอยู่ในระดับมาก ส่วนความไว้วางใจเช่าเครื่องจักรรถกระเช้ามีความแตกต่างกันตามปัจจัยองค์กรด้านลักษณะกิจการและจำนวนพนักงาน ความตั้งใจเช่าเครื่องจักรรถกระเช้ามีความแตกต่างกันตามปัจจัยองค์กรด้านลักษณะกิจการ ด้านสัญชาติขององค์กร และด้านจำนวนพนักงาน และปัจจัยด้านคุณภาพการให้บริการที่มีผลต่อความไว้วางใจเช่าเครื่องจักรรถกระเช้าในจังหวัดระยอง ได้แก่ ด้านการตอบสนอง และด้านการสื่อสาร ส่วนปัจจัยด้านคุณภาพการให้บริการที่มีผลต่อความตั้งใจเช่าเครื่องจักรรถกระเช้าในจังหวัดระยอง ได้แก่ ด้านการรับประกัน และด้านความรู้ทักษะ
15
13.  การศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดซื้อ และการควบคุมสินค้าคงคลังเพื่อสร้างรูปแบบเชิงป้องกันการจัดซื้อ
Author : ณัฐนันท์ นิรัชกุลโรจน์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทฤษฎีและแนวทางในการวางแผนการสั่งซื้อและการจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรูปแบบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงอายุการเก็บรักษา และเพื่อลดการถือครองปริมาณสินค้า โดยใช้ข้อมูลความต้องการวัตถุดิบของบริษัทกรณีศึกษา ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2562 รวมระยะเวลา 12 เดือน เพื่อพยากรณ์แนวโน้มความต้องการใช้วัตถุดิบในปี 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ ทฤษฎีก้างปลา หรือแผนผังสาเหตุและผล (cause and effect diagram) ซึ่งเป็นแผนผังที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา (problem) กับสาเหตุทั้งหมดที่อาจก่อให้เกิดปัญหานั้น (possible cause) วิเคราะห์การแบ่งหมวดหมู่คงคลังด้วยการวิเคราะห์แบบ ABC (ABC analysis) ไปสู่เทคนิคการพยากรณ์แบบอนุกรมเวลา และการวิเคราะห์การวัดความถูกต้องของการพยากรณ์ คือการเปรียบเทียบค่าพยากรณ์ที่ได้กับค่าจากข้อมูลจริงว่าแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งคือการหาค่าคลาดเคลื่อนในการพยากรณ์ หรือผลต่างระหว่างอุปสงค์จริงและค่าพยากรณ์ หากการพยากรณ์มีประสิทธิผล ค่าคลาดเคลื่อนจะต่ำและต้องไม่เอนเอียง โดยวิธีวัดความถูกต้องของเปอร์เซนต์ค่าคลาดเคลื่อนสมบูรณ์เฉลี่ย (mean absolute percentage error หรือ MAPE) ผลการวิจัยพบว่า เมื่อนำทฤษฎีแผนผังสาเหตุและผล (cause and effect diagram) มาวิเคราะห์ ทำให้ได้เข้าใจรากเหง้าของปัญหาการพยากรณ์คำสั่งซื้อคือ ไม่มีหลักวิธีการ (method) เพื่อใช้ในการพยากรณ์ และนำทฤษฎีการแบ่งหมวดหมู่ความสำคัญ ABC Analysis มาใช้ เพื่อนำไปสู่การสร้างรูปแบบการพยากรณ์การสั่งซื้อและควบคุมคลังสินค้าที่เกิดความคลาดเคลื่อนต่ำ จากเทคนิคการพยากรณ์แบบอนุกรมทางเวลา พบว่าผลลัพธ์วิธีพยากรณ์ที่ได้นำเสนอมีความแม่นยำสูงกว่าวิธีพยากรณ์ปัจจุบัน โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าวิธีปัจจุบันอยู่ 26.47% และมีการลดลงของการถือครองปริมาณคงคลังในแต่ละเดือน
4
14.  การจัดการด้านความปลอดภัยที่มีผลต่อทัศนคติด้านความปลอดภัยของพนักงานขับรถบรรทุกบริษัทขนส่งในจังหวัดชลบุรี
Author : อะกีระ ชิบาซากิ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับทัศนคติด้านความปลอดภัยของพนักงานขับรถบรรทุกในจังหวัดชลบุรี เปรียบเทียบความแตกต่างของทัศนคติด้านความปลอดภัยจำแนกปัจจัยส่วนบุคคล และศึกษาระดับอิทธิพลของการจัดการด้านความปลอดภัยที่มีต่อทัศนคติความปลอดภัยของพนักงานขับรถบรรทุกในจังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างคือ พนักงานขับรถบรรทุกในจังหวัดชลบุรี จำนวน 244 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามแบบมาตราส่วน 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ความถี่ ค่าเฉลี่ย การทดสอบความแปรปรวน และการวิเคราะห์สมการเส้นถดถอยพหุคูณ พบว่าระดับทัศนคติด้านความปลอดภัยของพนักงานขับรถบรรทุกในจังหวัดชลบุรี อยู่ในระดับมาก โดยทัศนคติด้านความปลอดภัยแตกต่างกันตามอายุและประสบการณ์ ระดับอิทธิพลของการจัดการด้านความปลอดภัยที่มีต่อทัศนคติด้านความปลอดภัยของพนักงานขับรถบรรทุกในจังหวัดชลบุรี ได้แก่ ด้านอิสระในการทำงาน ด้านสมรรถภาพของคนขับ และด้านความสัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
6
15.  การพยากรณ์ความต้องการและจัดการสินค้าคงคลัง: กรณีศึกษาบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี
Author : ศิวนันท์ วรโชติปัญญารัตน์
Abstract
งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบเทคนิคการวางแผนการพยากรณ์ความต้องการทฤษฎีการวิเคราะห์แบบ ABC Classification ยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าคงคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เทคนิคการพยากรณ์ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ที่เหมาะสมสำหรับสินค้า Class A และเพื่อวิเคราะห์ปริมาณสั่งผลิต จุดสั่งผลิตใหม่ เพื่อลดต้นทุนการถือครองและต้นทุนการจัดเก็บสินค้า ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่เหมาะสมสำหรับสินค้า Class A มีทั้งหมด 13 รายการ จาก จำนวนสินค้า 79 รายการ และปริมาณสั่งผลิต จุดสั่งผลิตใหม่ สามารถทำให้ต้นทุนรวมลดลงได้ถึง 215,746.04 บาทต่อปี จากมูลค่าเดิม 820,387.00 บาทต่อปี ลดค่าใช้จ่ายรวม 30%
2
16.  การจัดผังพื้นที่จัดเก็บในคลังสินค้า กรณีศึกษา: บริษัทขึ้นรูปโลหะแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี
Author : วรวุฒิ ทองพูน
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงงานกรณีศึกษาที่ประสบปัญหาการใช้พื้นที่จัดวางสินค้าไม่เหมาะสม และใช้เวลานานในการขนย้ายสินค้าไปยังประตูทางออก โดยการจัดพื้นที่ตำแหน่งจัดเก็บสินค้าด้วยทฤษฎีการแบ่งกลุ่มสินค้าตามลำดับความสำคัญ ABC Classification ร่วมกับการนำทฤษฎี SLP (systematic layout planning) ในการเสนอการปรับปรุงแก้ไขพื้นที่การทำงานแต่ละหน่วยงานในคลังสินค้าให้เหมาะสม พบว่าการแบ่งกลุ่มสินค้าตามลำดับความสำคัญ ลดลงจากเดิมคิดเป็นร้อยละ 16.80 และระยะทางลดลงคิดเป็นร้อยละ 56.33 และยังได้เสนอผังการปฏิบัติงานใหม่แต่ละแผนกในคลังสินค้าให้เกิดการไหลของงานที่เหมาะสมที่สุด จึงได้เลือกรูปแบบการปรับปรุงแบบที่ 2 ซึ่งลดระยะทางจากเดิมได้คิดเป็นร้อยละ 39.24 และลดเวลาจากเดิมได้คิดเป็นร้อยละ 4.10
6
17.  บทวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ต่อการอธิบายแรงจูงใจในการทำงานผ่านทฤษฎีความเสมอภาคของ J. STACY ADAMS
Author : วีระยุทธ พรพจน์ธนมาศ
Abstract
แรงจูงใจในการทำงานถือเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญของการศึกษาทางด้านองค์การตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบันมีทฤษฎีที่อธิบายเรื่องแรงจูงใจในการทำงานของมนุษย์ในองค์การเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือทฤษฎีความเสมอภาคของ J. Stacy Adams ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1965 และเป็นทฤษฎีที่หนังสือหรือตำราจำนวนมากยังคงเลือกที่จะนำมาใช้ในการอธิบายเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน บทความนี้ต้องการวิพากษ์ทฤษฎีความเสมอภาคใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) วิธีการอธิบายปรากฏการณ์ 2) รูปแบบการอธิบาย 3) โครงสร้างกับการกระทำ และ 4) ระดับการอธิบายระหว่างปัจเจกบุคคลหรือหน่วยใหญ่
3
18.  วิถีชีวิตแบบ NEW NORMAL กับกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจให้บริการโรงแรม
Author : ธันยนันท์ สมบูรณ์รัตนโชค
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจให้บริการโรงแรมสมัยใหม่ภายใต้วิถีชีวิตแบบ New Normal จากการศึกษาพบว่าสามารถทำได้ดังนี้ 1) ส่งเสริมการทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามนโยบายขององค์กรภายใต้หลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เน้นการสวมใส่หน้ากากอนามัย (mask) ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรม รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่ไม่จำเป็น และการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ (hand washing) อยู่เสมอ 2) การพัฒนาการดำเนินการขององค์กรเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจขององค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน โดยเปลี่ยนมาเน้นการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ (online transaction) ให้มากขึ้น เพื่อลดการเผชิญหน้าและการสัมผัสกัน 3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคม มุ่งเน้นการใส่ใจคุณภาพชีวิตของพนักงานและการสร้างความตระหนักถึงการพัฒนาชุมชนและสังคม ปรับปรุงรูปแบบการทำงานบางส่วนให้เป็นแบบออนไลน์ (work from home) เน้นลดการสัมผัสกับผู้คนและสิ่งของตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงให้การสนับสนุนและพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์ (e-Learning) ให้กับเด็กในชุมชน เพื่อลดการรวมกลุ่ม แต่ยังสามารถให้เด็ก ๆ เรียนหนังสือได้จากทุกที่ทุกเวลา ทำให้ไม่เสียโอกาสทางการศึกษา 4) การมุ่งเน้นกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการเว้นระยะห่างทางสังคม เน้นการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำกิจกรรม ซึ่งในทุก ๆ กิจกรรมจะต้องมีการตั้งจุดคัดกรอง (screening) เพื่อเป็นจุดตรวจผู้เข้าร่วมกิจกรรมก่อนเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง และ 5) การมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมผ่านระบบคัดกรองและข้อกำหนดทางสังคมอย่างเคร่งครัด หากพบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือมาจากพื้นที่เฝ้าระวัง จำเป็นจะต้องใช้วิธีการกักตัว (quarantine) เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมทุกคนจะปลอดภัยจากโรคระบาดร้ายแรงได้
28