please wait loading...
Untitled Document
 
 ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน 2564 ISSN 1686-5715 อ่าน
1.  ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา: แบบจำลอง ERROR-CORRECTION
Author : ประภัสสร คำสวัสดิ์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่เป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์ต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่นำมาศึกษาประกอบด้วย มูลค่าของรายได้ประชาชาติ (GDP) อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ มูลค่าการส่งออก และมูลค่าการนำเข้าสินค้าของประเทศไทย จากข้อมูลอนุกรมเวลา โดยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาว หรือ Cointegrating Relationship ส่วนการศึกษาในระยะสั้นใช้แบบจำลอง Error Correction Model (ECM) ในการวิเคราะห์ พบว่าอัตราเงินเฟ้อ และมูลค่าการส่งออก เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ มูลค่าการส่งออก และรายได้ประชาชาติ เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญ คำสำคัญ: อัตราแลกเปลี่ยน, แบบจำลอง error correction (ECM)
3
2.  รุ่นของคน ความพึงพอใจในงานกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพนักงานในบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
Author : ชูเกียรติ จากใจชน และคณะ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในงาน และความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพนักงาน และศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของตัวแปรความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพนักงาน โดยใช้ปัจจัยส่วนบุคคล รุ่นของคน และความพึงพอใจในงาน เป็นตัวแปรพยากรณ์ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยนี้ มีจำนวน 2,765 คน กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย จำนวน 197 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความพึงพอใจในงาน และแบบสอบถามความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .918 และ .821 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ t-test, Pearson Correlation และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ พบว่า 1) พนักงานชายมีค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจในงานในรายด้านย่อย ได้แก่ ด้านลักษณะงาน ด้านสัมพันธภาพกับหัวหน้างานและการบังคับบัญชา และด้านโครงสร้างองค์กรและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ตลอดจนภาพรวมทุกด้าน และสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) พนักงาน Generation Y มีค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจในงานในรายด้านย่อยคือ ด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงาน Generation X อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ความพึงพอใจในงานในแต่ละด้าน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในงานด้านอื่น ๆ และความพึงพอใจในงานในภาพรวมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4) จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ พบว่าที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 เมื่อควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ให้เป็นค่าคงที่ ความพึงพอใจในงานในรายด้านย่อย ได้แก่ ด้านสัมพันธภาพกับหัวหน้างานและการบังคับบัญชา ด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน ด้านโอกาสก้าวหน้าในการทำงานและการบรรลุความสำเร็จ และด้านโครงสร้างองค์กรและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้ร้อยละ 38.40 คำสำคัญ: รุ่นของคน, ความพึงพอใจในงาน, ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
19
3.  การวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์กระบวนการกลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวของอาหารบาบ๋า วัฒนธรรมร่วมสมัยเพอรานากันในจังหวัดภูเก็ต
Author : ชลิดา แย้มศรีสุข
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการกลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวของอาหารบาบ๋า วัฒนธรรมร่วมสมัยเพอรานากันในจังหวัดภูเก็ต และเพื่อวิเคราะห์ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์กระบวนการกลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวของอาหารบาบ๋า วัฒนธรรมร่วมสมัยเพอรานากันในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสมวิธี โดยใช้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่าความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการกลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวของอาหารบาบ๋า วัฒนธรรมร่วมสมัยเพอรานากันในจังหวัดภูเก็ต มีระดับความคิดเห็นมากที่สุดในด้านสภาพแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต มีค่าเฉลี่ย 4.01 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.55 รองลงมาคือ ด้านกระบวนการกลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวของอาหารบาบ๋า มีค่าเฉลี่ย 3.94 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.66 สำหรับการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์กระบวนการกลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวของอาหารบาบ๋า วัฒนธรรมร่วมสมัยเพอรานากันในจังหวัดภูเก็ตในเชิงคุณภาพพบว่า ควรมีการบริหารแบบมีส่วนร่วมจากชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจ ความสะอาด ความมีคุณค่าทางโภชนาการของอาหารพื้นถิ่นให้กับประชาชน คำสำคัญ: กระบวนการกลายเป็นสินค้า, อาหารบาบ๋า, วัฒนธรรมร่วมสมัย, เพอรานากัน
13
4.  พฤติกรรมและการรับรู้ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีต่ออาหารพื้นถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่
Author : ทิพย์วดี โพธิ์สิทธิพรรณ
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีต่ออาหารพื้นถิ่นในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อศึกษาการรับรู้ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีต่ออาหารพื้นถิ่นในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการร้านอาหารพื้นถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ และทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติ Chi-Square พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพศชายที่มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 30-39 ปี สถานภาพสมรส มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน รายได้ต่ำกว่า 5,000 ดอลล่าร์ และมีภูมิลำเนาอยู่ในทวีปยุโรป พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่รู้จักและเคยรับประทานอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ และรู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่รับประทานอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยรับประทานอาหารประเภทขันโตกบ่อยที่สุด และให้ความคิดเห็นว่าอาหารพื้นถิ่นมีรสชาติอร่อย มีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารพื้นถิ่นน้อยกว่า 200 บาทต่อครั้ง ส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นว่าราคาอาหารพื้นถิ่นอยู่ในราคาสมเหตุสมผล จึงทำให้เลือกรับประทานอาหารพื้นถิ่น ส่วนการรับรู้ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่าอาหารพื้นถิ่นมีรสชาติผสมผสาน จึงทำให้ชอบรสชาติของอาหารพื้นถิ่น อีกทั้งยังสามารถจดจำชื่ออาหารพื้นถิ่นได้ โดยคิดว่าอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นที่รู้จักในสายตาของชาวต่างชาติ คำสำคัญ: พฤติกรรมนักท่องเที่ยว, อาหารพื้นถิ่น, การท่องเที่ยวเชิงอาหาร
3
5.  ผลของการสอนแบบเน้นงานปฏิบัติที่มีต่อความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
Author : มัทนา ชาญกิจ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบเน้นงานปฏิบัติ และเพื่อเปรียบเทียบผลการสอนแบบเน้นงานปฏิบัติที่มีต่อความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนอ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 กลุ่มเรียนที่ 4 จำนวน 30 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย โดยการจับฉลากกลุ่มเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนอที่จัดการเรียนการสอนแบบเน้นงานปฏิบัติ จำนวน 5 แผน แผนละ 4 ชั่วโมง รวม 20 ชั่วโมง และแบบทดสอบความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และการทดสอบค่า t-test พบว่าคะแนนความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คำสำคัญ: การสอนแบบเน้นงานปฏิบัติ, ความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ, รูปแบบการสอน
14
6.  การวิเคราะห์สหสัมพันธ์คาโนนิคอลระหว่างความรักและพลังขับเคลื่อนองค์กรกับประสิทธิภาพในการทำงานของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกรุงเทพมหานคร
Author : พชร ใจอารีย์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสหสัมพันธ์คาโนนิคอลระหว่างความรักและพลังขับเคลื่อนองค์กรกับประสิทธิภาพในการทำงานของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 366 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วน 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์คาโนนิคอล พบว่าความรักและพลังขับเคลื่อนองค์กรกับประสิทธิภาพในการทำงาน มีค่าความสัมพันธ์คาโนนิคอลที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (p = .00) จำนวน 1 ฟังก์ชัน คือฟังก์ชันที่ 1 มีค่าความสัมพันธ์คาโนนิคอล (Rc) .78 ความรักและพลังขับเคลื่อนองค์กรสามารถอธิบายความแปรปรวนของประสิทธิภาพในการทำงานได้ร้อยละ 60.00 (square canonical (Rc2) = .6) โดยชุดตัวแปรความรักและพลังขับเคลื่อนองค์กร ตัวแปรด้านการมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (-.93) สามารถอธิบายชุดตัวแปรความรักและพลังขับเคลื่อนองค์กรมากที่สุด รองลงมาคือ ตัวแปรด้านความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค (-.89) ตัวแปรด้านการทุ่มเทสร้างผลงานที่เป็นเลิศ (-.83) ตัวแปรด้านการระลึกถึงองค์กรในทางบวก (-.70) และตัวแปรด้านความรักและปรารถนาจะเป็นสมาชิกขององค์กร (.53) ตามลำดับ ส่วนชุดตัวแปรประสิทธิภาพในการทำงาน พบว่า ตัวแปรด้านคุณภาพของงาน (-.89) สามารถอธิบายชุดตัวแปรประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด รองลงมาคือ ตัวแปรด้านปริมาณงาน (-.87) ตัวแปรด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (-.84) และตัวแปรด้านเวลา (-.83) ตามลำดับ คำสำคัญ: การวิเคราะห์สหสัมพันธ์คาโนนิคอล, ความรักและพลังขับเคลื่อนองค์กร, ประสิทธิภาพในการทำงาน, นักบริหารทรัพยากรมนุษย์
3
7.  พฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยในเมืองพัทยาต่อการใช้บริการสปาเพื่อสุขภาพ
Author : ฐมจารี ปาลอภิไตร
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยในเมืองพัทยาต่อการใช้บริการสปาเพื่อสุขภาพ และเพื่อเปรียบเทียบการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการสปาเพื่อสุขภาพกับข้อมูลทั่วไปของนักท่องเที่ยวชาวไทยในเมืองพัทยา งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ใช้บริการสปาในเมืองพัทยา จำนวน 400 ตัวอย่าง ได้จากการสุ่มแบบบังเอิญ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการทดสอบความแปรปรวน พบว่าผู้ตอบแบบสอบส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 21-37 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001-20,000 บาท โดยบริการที่เลือกใช้เป็นอันดับหนึ่งคือ นวดแผนไทย เหตุผลในการเลือกใช้บริการสปาคือ เพื่อคลายเครียด ผ่อนคลาย จำนวนครั้งที่มาใช้บริการต่อเดือนคือ 2 ถึง 3 ครั้ง ระยะเวลาในการใช้บริการสปา 2 ถึง 3 ชั่วโมง โดยมีแหล่งรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเพื่อนร่วมงานมากที่สุด รองลงมาคือ อินเทอร์เน็ต และปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการสปาของนักท่องเที่ยวชาวไทยในเมืองพัทยาโดยรวมและรายด้านมีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ ด้านบุคลากร ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม ด้านค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ ด้านบริการ และด้านผลิตภัณฑ์และเครื่องมือ ส่วนการเปรียบเทียบการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เลือกใช้บริการสปาเพื่อสุขภาพ พบว่ากลุ่มอายุที่ต่างกัน มีปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการสปาเพื่อสุขภาพแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คำสำคัญ: การตัดสินใจ, นักท่องเที่ยวชาวไทย, สปา, พัทยา
17
8.  การศึกษาเปรียบเทียบความถูกต้องและแม่นยำของเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิสภาพอากาศ สำหรับงาน IoT ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
Author : นงเยาว์ สอนจะโปะ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความถูกต้องและแม่นยำของเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิสภาพอากาศสำหรับงาน IoT ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน วิธีดำเนินงานวิจัยใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ DHT11, DHT12, DHT21/AM2301, DHT22, DHT22/AM2302, DS3231, LM35, MLX90614 มาทดสอบโดยใช้งานร่วมกับบอร์ด NodeMCU ESP8266 และเขียนโค้ดด้วยภาษา C เพื่อหาผลลัพธ์ และนำไปทดสอบในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ระหว่างพื้นที่ปิดคือห้องเซิร์ฟเวอร์มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และพื้นที่โล่งแจ้ง ผลลัพธ์ที่ได้จากการทดสอบการตรวจจับอุณหภูมิของเซ็นเซอร์แต่ละชนิดในห้องเซิร์ฟเวอร์จะเปรียบเทียบกับเครื่องวัดอุณหภูมิภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ ส่วนการตรวจจับอุณหภูมิในพื้นที่โล่งแจ้งใช้เปรียบเทียบค่ากับเครื่องวัดอุณหภูมิ Hetaida รุ่น HTD8808E เพื่อเทียบเคียงความถูกต้องและแม่นยำในการตรวจจับอุณหภูมิของเซ็นเซอร์ที่นำมาทดสอบ พบว่าการตรวจจับอุณหภูมิในพื้นที่ห้องปิดคือห้องเซิร์ฟเวอร์ของมหาวิทยาลัย ศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ตรวจจับอุณหภูมิได้ถูกต้องและแม่นยำกว่าชนิดอื่นคือ DHT11 มีความถูกต้องและแม่นยำคิดเป็นร้อยละ 98.11 และมีความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 0.4 oC และการทดสอบการตรวจจับอุณหภูมิในพื้นที่โล่งแจ้งพบว่า เซ็นเซอร์ที่ตรวจจับอุณหภูมิได้ถูกต้องและแม่นยำกว่าชนิดอื่นมี 2 ชนิด ได้แก่ DHT11 และ DS3231 ให้ค่าความถูกต้องและแม่นยำคิดเป็นร้อยละ 98.22 มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 0.5 oC และผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยสรุปได้ว่า อุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิที่ให้ค่าความถูกต้องและแม่นยำเมื่อนำมาตรวจจับอุณหภูมิในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ยังสามารถตรวจจับอุณหภูมิได้ถูกต้องและแม่นยำเหมือนเดิม คำสำคัญ: ความถูกต้อง, ความแม่นยำ, เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิสภาพอากาศ, ไอโอที
1
9.  การพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ (SMART EASY OPD/IPD)
Author : ปัณฑ์ชณิช เพ่งผล
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ (Smart Easy OPD/IPD) เพื่อหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ ISONORM 9241/110 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้ที่มีต่อแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 30 คน และคนไข้ที่เข้าร่วมโครงการวิจัย จำนวน 100 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ (proposed sampling) วิธีการดำเนินการวิจัยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่า 1) แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ มีการพัฒนาและดำเนินการอย่างมีคุณภาพตามหลักการและกระบวนการการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ISONORM 9241/110 ในระดับดี และผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้ใช้มีความพึงพอใจต่อระบบที่ระดับมาก สรุปได้ว่าแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการใช้งานและให้บริการทางสาธารณสุขต่อไป คำสำคัญ: ระบบคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ, นวัตกรรมทางการแพทย์
1
10.  การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ เรื่องกฎหมายทั่วไป สำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน
Author : ลัดดาวรรณ มีอนันต์ และคณะ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้เรื่องกฎหมายทั่วไปสำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยินที่มีต่อสื่อการเรียนรู้เรื่องกฎหมายทั่วไปสำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน และเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียนด้วยสื่อการเรียนรู้เรื่องกฎหมายทั่วไปสำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน วิทยาลัยสารพัดช่าง จังหวัดชลบุรี จำนวน 22 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ (proposed sampling) วิธีดำเนินการวิจัยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แผนจัดการเรียนรู้ และสื่อเพื่อการเรียนรู้ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติอย่างง่ายคือ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน พบว่า 1) สื่อการเรียนรู้เรื่องกฎหมายทั่วไปสำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน มีการพัฒนาและดำเนินการอย่างมีคุณภาพตามหลักการและกระบวนการการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายกิจกรรม 2) ผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อสื่อการเรียนรู้ได้ค่าเฉลี่ยรวมที่ระดับมาก 3) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน พบว่าค่าสถิติ t-test for Dependent Samples มีค่าเท่ากับ 3.40** แสดงว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนผู้บกพร่อง ทางการได้ยินที่เรียนด้วยสื่อการเรียนรู้เรื่องกฎหมายทั่วไปสำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน มีคะแนน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สามารถสรุปได้ว่า สื่อการเรียนรู้ดังกล่าวมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมกับการเรียนรู้สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน คำสำคัญ: ผู้บกพร่องทางการได้ยิน, วิชากฎหมายทั่วไป
6
11.  การบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์
Author : วีณา ประยูรรัตน์
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เข้าแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้กระบวนการวงจรบริหารงานคุณภาพ (PDCA) มาร่วมในการวางแผนการบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ มี 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1) การวางแผน 2) ปฏิบัติการตามแผน 3) ตรวจสอบ และ 4) ปรับปรุงแผน จากผลการบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามีจำนวนผู้เข้าแข่งขัน 99 ทีม รวม 594 คน จากโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย และระดับความพึงพอใจต่อการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.30 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.88 คำสำคัญ: การแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์, วงจรบริหารงานคุณภาพ
21
12.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร
Author : กิตยาภรณ์ คงสอนมาน และคณะ
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการทำงานจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลของพนักงาน และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของพนักงาน ประชากรคือ พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 130 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.730-0.915 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบลำดับขั้น พบว่าพนักงานที่มีเพศแตกต่างกัน มีพฤติกรรมในการทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพนักงานที่มีระดับการศึกษาและรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกัน มีพฤติกรรมในการทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ปัจจัยคุณลักษณะงาน ปัจจัยความผูกพันต่อองค์กร และปัจจัยวัฒนธรรมองค์กร ส่งผลต่อพฤติกรรมในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 โดยตัวแปรดังกล่าวสามารถทำนายพฤติกรรมในการทำงานได้ร้อยละ 72.20 มีสมการทำนายคือ Y = 1.293 + 0.369 (X5) + 0.231 (X7) + 0.106 (X6) คำสำคัญ: พฤติกรรมการทำงาน, ลักษณะงาน, ความผูกพันต่อองค์กร, วัฒนธรรมองค์กร
26
13.  ปัจจัยด้านคุณสมบัติของตัวแทนขายที่มีผลต่อความไว้ใจ และความตั้งใจซื้อของลูกค้าประกันชีวิตในจังหวัดชลบุรี
Author : ชงคา หิรัญรตนพร
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบตามความไว้ใจและความตั้งใจซื้อ จำแนกตามลักษณะประชากรศาสตร์ และเพื่อทดสอบอิทธิพลของลักษณะตัวแทนขายที่มีผลต่อความไว้ใจและความตั้งใจซื้อของลูกค้าประกันชีวิตในจังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ประชากรในจังหวัดชลบุรีที่ถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกประเภท จำนวน 400 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว การทดสอบจำแนกเป็นรายคู่ และใช้สมการพยากรณ์โดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ พบว่า 1) ลูกค้าที่มีปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา และรายได้ต่อเดือนที่แตกต่างกัน จะมีความไว้ใจและความตั้งใจซื้อที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) คุณสมบัติของตัวแทนขาย มีผลต่อความไว้ใจและความตั้งใจซื้อของลูกค้าประกันชีวิตในจังหวัดชลบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.71 คำสำคัญ: ประกันชีวิต, ความไว้ใจ, ความตั้งใจซื้อ
10
14.  ความปกติแบบใหม่ทางการบิน
Author : จิตลดา ปิยะทัต
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้และการปรับตัวภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา เพื่อศึกษามาตรการข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดหรือการติดเชื้อ และเพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการตระหนักรู้ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการภายใต้สถานการณ์เดียวกัน พบว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากการใช้วิถีชีวิตแบบปกติกลับต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อผ่านวิกฤตครั้งรุนแรงไปให้ได้ จากสถานการณ์ครั้งนี้ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่รับผลกระทบทางตรงคือภาคธุรกิจการบิน เห็นได้จากมีการสร้างมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาดในวงกว้าง จึงต้องมีการคุมเข้มในการเข้า-ออกของเที่ยวบิน รวมไปถึงการระงับเที่ยวบินในบางประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก ปัญหานี้จึงส่งผลกระทบในการจำหน่ายบัตรโดยสารซึ่งเป็นรายได้ทางตรง ดังนั้นในภาวะที่ต้นทุนยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจากการจอดอากาศยานและไม่ได้ใช้ประโยชน์ สายการบินจึงต้องหาทางรอดในวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเป็นอุบัติการณ์ใหม่ที่เข้ามาทดสอบความแข็งแกร่งของธุรกิจให้ผ่านไปได้ภายใต้ความปกติแบบใหม่ คำสำคัญ: ไวรัสโคโรนา, ความปกติแบบใหม่, การบิน
8
15.  บทบาทและหน้าที่ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ทำการบินเที่ยวบินภายในประเทศระหว่างสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19): กรณีศึกษาประเทศไทย
Author : โชติกา พันธ์ผูกบุญ
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทและหน้าที่ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในการปฏิบัติหน้าที่บนเที่ยวบินภายในประเทศตามนโยบายสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยระหว่างสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อศึกษาความสำคัญของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดจากการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศระหว่างสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่าบทบาทและหน้าที่ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไม่เพียงให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและการบริการ แต่ยังให้ความสำคัญกับโรคอุบัติใหม่และการปรับรูปแบบการบริการให้เหมาะสมเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดตามนโยบายสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยด้วย เช่น การดูแลตนเองและการให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างในกิจกรรมระหว่างการเดินทางของผู้โดยสาร การประกาศแนวปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข นอกจากนี้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินยังมีความสำคัญในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดจากการตรวจสอบให้ผู้โดยสารทำตามแนวปฏิบัติ การเตรียมอุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์ในการบริการให้มีโอกาสในการแพร่ระบาดน้อยที่สุด และการแยกผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วย พร้อมทั้งการรายงานสถานการณ์ในห้องโดยสารแก่นักบินเพื่อรายงานต่อภาคพื้นในลำดับถัดไป คำสำคัญ: บทบาทและหน้าที่, พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019
6
16.  ปัจจัยอันตราย 12 ประการในงานซ่อมบำรุงอากาศยาน
Author : ลลิตลักษณ์ ธารีเกษ
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายและวิเคราะห์ปัจจัยอันเป็นอันตราย 12 ประการ และเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและลดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ปัจจัยอันตราย 12 ประการ หรือทฤษฎี Dirty Dozen เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงปัจจัย 12 ประการของมนุษย์อันเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุทางการบินได้ โดย Gondon Dupont เป็นผู้พัฒนากรอบแนวคิดนี้ และหน่วยงานคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งของแคนาดา (Transportation Safety Board of Canada: TSB) ได้นำไปประยุกต์ใช้ เป็นทฤษฎีที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการฝึกอบรมหลักสูตรปัจจัยมนุษย์ (human factor) ของช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มุ่งเน้นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ รวมถึงปัจจัยด้านองค์กรที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน โดย 12 ปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของช่างซ่อมบำรุงอากาศยานประกอบด้วย 1) การขาดการติดต่อสื่อสาร 2) ความชะล่าใจ 3) การขาดความรู้ 4) การขาดสมาธิ 5) การขาดการทำงานเป็นทีม 6) ความเหนื่อยล้า 7) การขาดแคลนทรัพยากร 8) ความกดดัน 9) การขาดความกล้าแสดงความคิดเห็น 10) ความเครียด 11) การขาดความตระหนักรู้ในสถานการณ์ และ 12) บรรทัดฐาน/แนวปฏิบัติของกลุ่ม สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัจจัยดังกล่าวนั้น องค์กรต้องสามารถระบุและค้นหาปัจจัยอันตรายทั้ง 12 ประการของบุคลากรในงานซ่อมบำรุงอากาศยาน นอกจากนี้ องค์กรควรมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและเหมาะสม มีระบบในการตรวจสอบ ป้องกันและแก้ไขข้อผิดพลาดของบุคลากรที่อาจเกิดจากปัจจัยดังกล่าว รวมถึงการเสริมสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เข้มแข็ง คำสำคัญ: ปัจจัยอันตราย, ซ่อมบำรุง, อากาศยาน
24
17.  การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่รูปแบบการดำเนินกิจการวิถีใหม่หลังผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019
Author : นิคม หมูหล้า
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการต่อการทำธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 เพื่อศึกษาการวางกลยุทธ์ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเพื่อศึกษาการปรับตัวให้เหมาะสมกับการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs การระบาดทั่วโลกของโคโรน่าไวรัส 2019 เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 พบครั้งแรกในนครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหู่เป่ย ประเทศจีน ซึ่งการระบาดในครั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นการระบาดฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 และประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่วโลกในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งการระบาดนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องปรับตัวอย่างมากต่อการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 นับตั้งแต่สิ้นปี พ.ศ. 2562 มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้คนแรกของโลก โดยมีชื่อเรียกกันว่า “โควิด-19” ในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างในวิกฤตโรคระบาดนี้ โดยเฉพาะในจีน สะท้อนจากอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับไวรัสอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกจะบรรเทาลงและสิ้นสุดในเร็ววัน อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ได้สร้างความวิตกกังวลและตื่นกลัวให้กับผู้คนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมามาก ทั้งในแง่สวัสดิภาพและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คำสำคัญ: ชีวิตวิถีใหม่, การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ, โคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19)
11