ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

ดร.สุข พุคยาภรณ์ ในวัยเด็ก ได้ศึกษาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 ในปี พ.ศ.2470 ณ โรงเรียนวัดแสนเกษม หลังจากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อลาสิกขาแล้วท่านได้ช่วยครอบครัวทำการค้า จนกระทั่ง ในปีพ.ศ.2475 ได้ออกมาดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการพายเรือขายสินค้า และข้าวเปลือก ดร.สุขเป็นผู้ที่มีความมานะ อดทนเป็นเลิศ อีกทั้งยังรู้จักใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม ท่านได้ทำการค้าขาย เก็บหอมรอมริบด้วยตนเอง กระทั่งพอมีทุนทรัพย์ในการเปิดโรงสีข้าว ในปีพ.ศ.2490
ดร.สุข พุคยาภรณ์ มุ่งงมั่นและมีมานะในการทำงาน ตลอดเวลา 15 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2475-2490 ท่านได้สั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถมากมาย หลังจากที่ท่านสมรส ในเวลาต่อมาท่านได้สูญเสียบุตรชาย 1 คนจากการประสบอุบัติเหตุเพราะการฝึกเป็นช่างไฟฟ้าด้วยตนเอง โดยไม่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนช่าง เนื่องจากโรงเรียนในสมัยนั้นมีเฉพาะโรงเรียนที่จัดตั้งโดยภาครัฐ และรับนักเรียนได้จำนวนจำกัด ทำให้เยาวชนที่มีโอกาสได้ศึกษาในระดับสูงมีน้อย ต่อมาในปีพ.ศ.2510 รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถจัดตั้งเปิดโรงเรียนได้ การที่ท่านเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และรำลึกถึงการสูญเสียบุตรชาย เนื่องจากการขาดโอกาสศึกษาวิชาชีพช่าง ท่านจึงได้ชักชวนเพื่อนสนิท จัดตั้งโรงเรียนช่าง โดยมีชื่อว่า โรงเรียนเทคโนโลยีไทยสุริยะ
อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย ประกอบกับท่านมิได้เป็นผู้มีการศึกษาสูง แต่ด้วยความมุ่งมั่นและยึดถือคติ ว่าการศึกษา สร้างคน คนสร้างชาติ ท่านมองเห็นว่าประเทศชาติต้องมีประชาชนที่มีความรู้ ประเทศจึงจะเจริญก้าวหน้าได้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีอุปสรรคปัญหาใด ท่านจึงไม่ยอมแพ้และไม่ย่อท้อ ประกอบกับการเป็นผู้มีอัธยาศรัยไมตรีที่ดีและมีน้ำใจต่อผู้อื่นเสมอ จึงมีผู้มีความรู้ ความสามารถได้เข้ามาร่วมทำงานช่วยท่านมากมาย และได้ขยายสาขาของโรงเรียนไปยังหลายจังหวัด รวมถึงได้จัดตั้งโรงเรียนพาณิชยการขึ้นมาอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา
ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ดร.สุข พุคยาภรณ์ จึงได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาในระดับวิทยาลัยขึ้น ในปี พ.ศ.2530 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชทานนามวิทยาลัยให้ว่า ศรีปทุม และได้พระราชทานความหมายให้ด้วยว่า เป็นบ่อเกิดแห่งวิชาที่เบิกบานเช่นดอกบัว โดยพระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน เปิดอาคารเรียนหลังแรกขึ้น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2515 และด้วยคุณภาพของการจัดการศึกษา ต่อมาวิทยาลัยจึงได้รับการเปลี่ยนสถานะเป็น มหาวิทยาลัย
ในปีพ.ศ. 2521 ดร.สุข พุคยาภรณ์ ได้รับเชิญจาก Mid Western University ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งแก่ท่าน และครอบครัว
ดร.สุข พุคยาภรณ์ มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการพัฒนาสถาบันการศึกษาที่ท่านสร้างให้เป็นสถาบันที่มีคุณภาพ โดยสรรหาครูอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในสายวิชาชีพต่างๆมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา
ต่อมา ดร.สุข พุคยาภรณ์ ได้มองเห็นว่า สถาบันการศึกษาระดับสูงนั้นกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ส่วนในต่างจังหวัดก็มีเฉพาะสถาบันที่ดำเนินการโดยภาครัฐ จำนวนเยาวขนที่มีความต้องการศึกษาในระดับปริญญามีมาก แต่สถาบันการศึกษาของรัฐสามารถรับได้จำนวนจำกัด ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษา เยาวชนมากมายจึงไม่มีโอกาสได้ศึกษาในระดับปริญญา
ในปีพ.ศ.2530 ดร.สุข พุคยาภรณ์จึงได้ตัดสินใจ จัดตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีปทุมขึ้นที่ จังหวัดชลบุรี อันเป็นการตัดสินใจที่นอกจากจะทำให้เยาวชนได้มีสถานที่ศึกษาในระดับปริญญาแล้ว ยังเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆของเยาวชนที่จะต้องเดินทางเข้าไปศึกษา ที่กรุงเทพ ทำให้ส่งผลที่ดีในทุกๆด้าน ต่อครอบครัวของเยาวชน และสังคม
ดร.สุข พุคยาภรณ์ ท่านเคยได้รับตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งที่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม อาทิ สมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพ ประธานศูนย์เยาวชนเขตบางเขน ประธานจัดงานวันพ่อแห่งชาติ กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย นายกสมาคมโรงสี ที่ปรึกษารัฐมนตรว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาสโมสรลูกเสือวิสามัญแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารแห่งประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม และท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญตรา ดังนี้ ทวิติยาภรณ์มงกุฏไทย(ท.ม.) ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1 และเหรียญกาชาดสรรเสริญ
ดร.สุข พุคยาภรณ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการศึกษา และสังคมไทย ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสในการศึกษา ท่าน มีคติประจำใจที่ท่านได้บันทึกไว้ คือ “ริเริ่ม รอบร็ รวดเร็ว เรียบร้อย” อันเป็นแนวทางให้ผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ศึกษาและเดินตามแนวทางของท่านในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งๆขึ้นตลอดไป